สทนช.รับมือ “แล้งหนัก” เตรียมรีเซตข้อมูลน้ำ

สัญญาณภัยแล้งปีนี้มีโอกาสที่จะรุนแรงและยาวนาน ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเวทีเสวนา “ความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค” เพื่อระดมสมองรองรับแผนขาดแคลน จากปัญหาการปลูกพืชนอกฤดูเกินเป้าหมาย ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคหลายพื้นที่ขาดแคลนชูโมเดล 3 ลด 3 เพิ่ม 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ฤดูร้อนในปีนี้ต้องจับตามองปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีน้ำใช้การได้ 21,849 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,700 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าน่าห่วง และมีพื้นที่ 5 แห่งที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำมากที่สุด โดยเฉพาะน้ำประเภทที่ 1

“น้ำกินน้ำใช้” ทางเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ประเมินว่าจะขาดแคลนน้ำใน 20 สาขา 18 จังหวัด 25 อําเภอ อาทิ เชียงใหม่ โคราช ทั้งยังเสี่ยงการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรใน 7 จังหวัด จากการเพาะปลูกข้าวเกินแผน 1.17 ล้านไร่

ทาง สทนช.เตรียมใช้โมเดล “3 ลด 3 เพิ่ม” ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาแล้ง ประกอบด้วย ลดความสูญเสียของน้ำ-ลดอัตราการใช้น้ำต่อหน่วย-ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งน้ำ-เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนทุกรูปแบบ-เพิ่มคุณภาพน้ำ

อย่างไรก็ตาม ไทยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำค่อนข้างมาก การเก็บข้อมูลดีมานด์-ซัพพลาย จึงเป็นโจทย์ยาก แต่สทนช.จะรวบรวมจากหน่วยงานน้ำทั้งหมดเข้าบรรจุภายใต้ พ.ร.บ.น้ำฉบับล่าสุดใหม่หมด เพราะการจัดสรรน้ำที่ผ่านมาไม่ทั่วถึงและสูญเสียน้ำเข้าระบบมาก เพราะไม่มีฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อไปเชื่อมโยงข้อมูลกัน พร้อมกับจัดทำ “บัญชีผู้ใช้น้ำ” เบื้องต้นได้ให้การประปาไปทำแผนเพิ่มแหล่งน้ำสำรองก่อน

สำรองน้ำใช้รับนักท่องเที่ยว

นายธำรง บูรณตระกูล ผู้เชี่ยวชาญการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ความท้าทายของปัญหาแล้งปีนี้ คือ ฝนจะมาช้าไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้น ต้องเตรียมแผนเพิ่มน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบัน กปน.มีโมเดล water city plan เปลี่ยนท่อยาว 1,000 กม. ทุกปีซึ่งต้องขอความร่วมมือประชาชนในการสัญจร รวมถึงน้ำเพื่อรองรับการท่องเที่ยวซึ่งมี 40 ล้านคน

“ปีนี้เราเตรียมลงทุน 42,000 ล้านบาท เพื่อรองรับลูกค้า ด้วยการขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 8 แสน ลบ.ม. รวมถึงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 3 กม. ที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝั่งที่มีการใช้น้ำในกรุงเทพฯและปริมณฑลเพียงพอและดีขึ้น”

กปภ.อัดงบฯหมื่นล้านรับอีอีซี

ด้าน นายพิสิฐ หงส์วณิชยกุล รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ปีนี้โจทย์ใหญ่ของ กปภ.คือการเพิ่มแหล่งต้นทุนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลทุ่มงบฯการเพิ่มแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีแอ็กชั่นแพลนให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่อีอีซีสูงมาก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของการประปาส่วนภูมิภาค รวมถึงงบฯการบริหารจัดการน้ำชายแดน 8,000 ล้านบาท ดังนั้น ในปีนี้เราจะต้องเพิ่มผู้ใช้น้ำให้ได้มากขึ้น ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ในการเพิ่มกำลังการผลิตให้บริการน้ำต่างจังหวัด โดยรับผิดชอบ 74 จังหวัด

ด้าน นางจงจิตร์ นีรนาถเมธีกุล อธิบดีกรมน้ำบาดาล กล่าวว่า บทบาทกรมน้ำบาดาลต้องดูแลเรื่องน้ำดิบหรือน้ำต้นทุน แต่ความยากลำบากคือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเป็นความท้าทาย ดังนั้นกรมน้ำบาดาลได้เพิ่มแผนแม่บทระบบประปา โดยการเจาะบ่อเพิ่มน้ำต้นทุนให้ประปาหมู่บ้าน มีเป้าหมายประมาณ 6,000 แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2566