เดินหน้า “SEA” เหมือง

ในการประชุมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment :SEA) ตามมติคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2559 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานและได้มีคณะอนุกรรมการภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เป็นผู้จัดทำและกำหนดว่าแร่ชนิดใดมีศักยภาพ มีผลต่อเศรษฐกิจสูง เพื่อพิจารณาทำ SEA

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในการทำเหมืองแร่ภาครัฐต้องทำ SEA เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสม เช่น การทำเหมืองแร่โพแทชมีในพื้นที่ใดบ้าง และควรทำในพื้นที่ใดจึงจะคุ้มทุน รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในบางพื้นที่มีศักยภาพต้องทำการประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม

“การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นหน้าที่ของเอกชนบริษัทผู้ได้รับสัมปทานใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ตามกฎหมายเหมือนเดิม สำหรับแร่ทองคำต้องแก้ไขปัญหาเก่าก่อนทำ SEA ซึ่งมีมาตรการต่าง ๆ ที่ 2 กระทรวงทำร่วมกันอยู่แล้ว แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นอย่างไร คือสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติต้องประเมินอีกทีว่าอะไรควรจะทำหรือไม่”

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มทำ SEA เหมืองแร่โพแทชรัฐไปเป็นแร่แรก จากนั้นจะต้องมีมติจากคณะกรรมการแร่ว่าแร่ชนิดใดมีผลต่อเศรษฐกิจสูงต้องทำ SEA ต่อ

“ส่วนเรื่องเหมืองทองคำ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งกระทรวงดำเนินการเต็มที่ตามกระบวนการและยังอยู่ในโมเมนตัมที่ดี”