พาณิชย์จัดหลักสูตรเร่งโต แก้ปมขาด”ขรก.เลือดใหม่”

พาณิชย์ระส่ำ ข้าราชการโตไม่ทัน “ผู้บริหารรุ่นใหม่” ขาด เร่งจัด “หลักสูตร”เสริมสร้างนักบริหารระดับสูงตามเกณฑ์ ก.พ. ด้านกรมการค้าต่างประเทศจับมือ มธ.จัด 2 หลักสูตร ปีละ 40 คน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่ากระทรวงจะมีข้าราชการกว่า 1,172 คน แต่เริ่มขาดบุคลากรจะมารับตำแหน่งผู้บริหาร แทนที่ผู้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ ซึ่งในปีนี้มีข้าราชการที่จะเกษียณ และอยู่ระหว่างการสรรหา 67 คน ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงนับ 10 ตำแหน่ง

“การจัดหาและวางตัวบุคคลแต่ละครั้งทำได้ยากลำบากมาก และอาจกลายเป็นประเด็นสำคัญที่เชื่อมโยงถึงการปฏิบัติงานของกระทรวง ซึ่งเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่มีหน้าที่ทั้งผลักดันการส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร การดูแลทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ กระทรวงจึงต้องเร่งสร้างข้าราชการขึ้นมาเป็นผู้บริหารเลือดใหม่”

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้สถาบันกรมพระจันทบุรีนฤนาถ จัดทำหลักสูตรนักบริหารการพาณิชย์ระดับสูง (นพส.) รุ่นที่ 1 ขึ้น เพื่อฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรผู้บริหารรุ่นใหม่ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจัดทำขึ้นตามกรอบมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรมนักบริหารระดับสูง (ฉบับปี 2559) ของสำนักงาน ก.พ. และ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนาคุณภาพกำลังคนภาครัฐ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับข้าราชการประเภทอำนวยการ หรือเทียบเท่า ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นต่อไป

“หลักสูตร นพส.นี้เป็นหลักสูตรที่สำนักงาน ก.พ. เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐจัดฝึกอบรมได้ โดยกระทรวงพาณิชย์เป็น 1 ใน 4 หน่วยงานที่จัดอบรมหลักสูตรลักษณะนี้ คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้ที่ผ่านหลักสูตร นพส.แล้ว และมีคุณสมบัติตรงตามที่โครงการฝึกอบรมเสริมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (ส.นบส.) ของสำนักงาน ก.พ.กำหนด เมื่อเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร และสำเร็จการฝึกอบรมแล้ว ก.พ.จะรับรองให้เสมือนได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ.”

สำหรับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารการพาณิชย์ระดับสูง (นพส.) รุ่นที่ 1 ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ข้าราชการประเภทอำนวยการ หรือเทียบเท่า จากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 33 ราย โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นการพัฒนาด้านการบริหารตน บริหารคน บริหารงบประมาณ และทรัพยากร มีภาวะผู้นำ ตลอดจนสามารถบริหารทิศทางและเป้าหมายขององค์กร ภายใต้ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ รวมถึงได้รับการเสริมสร้างความรู้ด้านการค้าการพาณิชย์ ตลอดจนกลไกอื่นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ

ส่วนวิธีการฝึกอบรมจะมีทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นของนักบริหารระดับสูง มีวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม การเสวนาวิชาการ การสอนแนะ การให้คำปรึกษา การฝึกปฏิบัติ การถกแถลง การศึกษา ดูงาน การจัดทำรายงานการศึกษาส่วนบุคคล รายงานการศึกษากลุ่ม การสะท้อนการเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบบนหลักปรัชญาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อการปฏิบัติตามรูปแบบภาวะผู้นำ นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้บริหารระดับสูง เช่น รองปลัดกระทรวง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ที่ปรึกษากฎหมาย และรองอธิบดี เป็นที่ปรึกษาผ่านการทำกิจกรรมกลุ่มด้วย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกรมการค้าต่างประเทศตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร New Generation Velocity (NGV) พลังคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต และหลักสูตร SupportingOfficer Synergy (SOS) ขึ้น เพื่อยกระดับข้าราชการที่จะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อเป็นนักบริหารที่ดีและมีประสิทธิภาพในอนาคต รวม 40 คน และในปี 2562 จะจัดรุ่น 2 รวม 40 คน คาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 2 ปีนี้

“ยอมรับว่าข้าราชการกรมโตไม่ทัน และยิ่งพ้นข้าราชการที่จะเกษียณในปี 2562 นี้ จะยิ่งทำให้กรมขาดผู้บริหารรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาดูแล จึงต้องวางหลักสูตรผู้บริหารนี้ขึ้นมา โดยเน้นอบรมให้ความรู้และพัฒนาบุคลากรระดับ 6 และระดับ 7 และผู้ที่กำลังขึ้นตำแหน่งได้เรียนรู้ทักษะการบริหารงานภายในองค์กร ทำให้บุคลากรที่กรมได้บ่มเพาะและพัฒนาได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนการทำงานของกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อยกระดับและพัฒนาข้าราชการกรม”

สำหรับหลักสูตรนี้จัดทำขึ้นตามความเหมาะสมของลักษณะงานแต่ละกอง เป็นหลักสูตรระยะสั้น 2 เดือน และหลักสูตร 3 วัน โดยมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากร รอบการอบรมละ 40 คน ซึ่งผู้ที่เข้าอบรมต้องจัดทำโปรเจ็กต์ หรือโครงการก่อนจบการอบรม เพื่อประเมินความรู้ ทั้งยังจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดทำหนังสือ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาและต่อยอดงานได้ในอนาคต