“ศิริ” งัดมาตรการรับมือความต้องการใช้ไฟหน้าร้อนพุ่ง

พีกใช้ไฟทะลุ 30,000 เมกะวัตต์ “ศิริ” เล็งรื้อโครงสร้างไฟฟ้าใหม่ มั่นใจไฟไม่ดับ มีกำลังการผลิต-สำรองล้น 34,000 เมกะวัตต์

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมข้อมูลรายงานโครงสร้างบริหารค่าไฟให้กับรัฐมนตรีคนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากประเทศไทยหันมาผลิตพลังงานทดแทนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ (โซลาร์) มากขึ้น โดยช่วงเวลาความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (peak) เปลี่ยนไปอยู่ในช่วง 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ได้ ดังนั้น จำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างค่าไฟใหม่ทั้งหมด รวมถึงเรื่องการซื้อขายไฟด้วย

“ปีนี้อากาศร้อนมากถึง 40 องศาโดยเฉพาะภาคเหนือ ทำให้การใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2562 เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในระบบของกฟผ.อยู่ที่ 29,680 เมกะวัตต์ แต่ในระบบรวมของภาคเอกชนทั้งหมดอยู่ที่ 30,300 เมกะวัตต์ ยืนยันว่าปัจจุบันยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าและสำรองไฟรวม 34,000 เมกะวัตต์ สามารถรองรับอีกในระยะยาว 5 ปีโดยที่ไม่จำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้ารายภาคโดยเฉพาะภาคใต้ โรงไฟฟ้าใหม่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังผลิตให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น”

ทั้งยังให้ กฟผ.เตรียมมาตรรองรับฉุกเฉินไว้ 3 มาตรการ คือ 1.บริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบทั้งโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ให้บำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น 2.ขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อรักษาความมั่นคง และ 3.ประสาน ปตท.ให้เพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า เพื่อสำรองจ่ายไว้ที่ 30% ให้เพียงพอรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนประหยัดพลังงานตามมาตรการปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน ปิดไฟที่ไม่ใช้ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 26-27 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กที่ไม่ใช้งานจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ขอให้สังเกตฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ซึ่งทาง กฟผ.เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 62 หากยิ่งมีดาวจำนวนมากก็ยิ่งประหยัดไฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10%