พาณิชย์ เปิดระบายข้าวสารล็อตสุดท้ายปริมาณ 4.1 หมื่นตัน เมื่อได้ผู้ที่ชนะประมูลสูงสุดพร้อม ชง นบข. พ.ค. 62 นี้

พาณิชย์เปิดระบายข้าวสารล็อตสุดท้ายปริมาณ 4.1 หมื่นตัน เมื่อได้ผู้ที่ชนะประมูลสูงสุดพร้อม ชง นบข. พ.ค. 62 นี้ ขณะที่ข้าวอีก 2.09 แสนตัน ที่ นบข. สั่ง อคส. เร่งระบายคาดจะเสนอแผนได้ในเดือนเดียวกัน

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดชี้แจงการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ครั้งที่ 1/2562 ให้กับผู้ที่สนใจ โดยถือเป็นการเปิดประมูลเป็นครั้งแรกของปีนี้ มีปริมาณข้าวที่นำมาเปิดประมูลรวม 41,000 ตัน แบ่งเป็นการจำหน่ายเป็นการทั่วไป (กลุ่ม 1) 13,635.41 ตัน จำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (กลุ่ม 2) 15,329.75 ตัน และจำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (กลุ่ม 3) 13,259.36 ตัน โดยเปิดให้ผู้สนใจตรวจสอบข้าวได้จนถึงวันที่ 3 พ.ค.2562 และให้ยื่นซองคุณสมบัติวันที่ 10 พ.ค.2562 สำหรับข้าวกลุ่ม 1 และวันที่ 7 พ.ค.2562 สำหรับข้าวกลุ่ม 2 และ 3 และจะประกาศชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 10 พ.ค.2562 สำหรับกลุ่ม 1 และให้ยื่นซองเสนอซื้อและเปิดซองเสนอซื้อในวันเดียวกัน ส่วนกลุ่ม 2 และ 3 ประกาศชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 14 พ.ค.2562 และยื่นซองเปิดซองในวันเดียวกัน โดยผู้ที่เสนอซื้อราคาสูงสุดก็จะเสนอเข้าสู่คณะทำงานระบาย ก่อนที่จะเสนอเข้าอนุกรรมการระบายเพื่อพิจารณา ก่อนสรุปผลให้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาเห็นชอบในการระบายต่อไป

สำหรับรายละเอียดข้าวที่นำมาเปิดประมูลในครั้งนี้ กลุ่ม 1 มาจาก 6 คลัง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สุพรรณบุรีและสิงห์บุรี โดยเป็นคลังขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ทั้งหมด ประกอบด้วยข้าว 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวขาว 5% และปลายข้าว A1 เลิศ กลุ่ม 2 จำนวน 1 คลัง ในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคลังของ อคส. เป็นปลายข้าว A1 เลิศ และกลุ่ม 3 จำนวน 1 คลัง ในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคลังของ อคส. ประกอบด้วยข้าว 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวขาว 5% และปลายข้าว A1 เลิศ

“เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ได้กำหนดไว้เหมือนกับที่เคยเปิดประมูลในปี 2561 ทุกประการ โดยหากผลการตรวจสอบพบว่าผู้ยื่นประมูลขาดคุณสมบัติ เช่น เคยประมูลแล้ว แต่ไม่มารับมอบข้าว มีการฮั้วราคากัน เคยทำความเสียหายให้กับการประมูลข้าว หรือมีความสัมพันธ์กับผู้ที่เคยทำความเสียหาย จะถูกตัดสิทธิ์ในทันที และจะถูกริบหลักประกันด้วย”

นางมนัสนิตย์ กล่าวว่า ในการเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ กรมฯ มั่นใจว่าจะมีผู้สนใจเข้ามายื่นประมูลเป็นจำนวนมาก เพราะขณะนี้ข้าวในท้องตลาดเหลือน้อย โดยเฉพาะข้าวสำหรับการบริโภคของคน ส่วนข้าวที่สัตว์บริโภค ก็น่าจะได้รับความสนใจ เนื่องจากขณะนี้ วัตถุดิบอาหารสัตว์หลายๆ ชนิด มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ข้าวเพิ่มขึ้น ส่วนข้าวที่เข้าอุตสาหกรรม น่าจะขายได้หมดเช่นเดียวกัน โดยหลังจากเปิดซองราคาและทราบผลผู้ชนะการประมูลแล้ว จะนำผลการประมูลเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาอนุมัติต่อไป คาดว่าน่าจะภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 นี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมฯ หากเปิดประมูลข้าวครั้งนี้เสร็จ จะไม่เหลือข้าวที่ต้องเปิดประมูลอีก แต่ยังคงเหลือข้าวในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) อีกประมาณ 2.09 แสนตัน ซึ่งเป็นข้าวที่มีปัญหาในเรื่องสัญญาเช่าคลัง ทั้งไม่มีสัญญาเช่า หรือถูกยกเลิกสัญญาเช่า และส่วนใหญ่เป็นข้าวสำหรับคนบริโภค และเข้าอุตสาหกรรม โดย นบข. ได้มอบหมายให้ อคส. ไปจัดทำแนวทางการระบาย และให้นำเสนอ นบข. พิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการระบายต่อไป คาดว่าน่าจะเสนอได้ในปลายเดือนพฤษภาคม 2562 นี้

ส่วนการส่งออกข้าวล่าสุด ตั้งแต่ 1 ม.ค.-26 เม.ย.2562 มีปริมาณ 3.05 ล้านตัน ลดลง 13% มูลค่า 1,587 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.66% โดยสาเหตุที่การส่งออกข้าวลดลง มาจากไทยไม่มีข้าวเพื่อส่งออก เพราะผลผลิตในท้องตลาดหมดแล้ว และราคาข้าวไทยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากที่อื่นทดแทน โดยราคาข้าวหอมมะลิของไทย อยู่ที่ตันละ 1,146 เหรียญสหรัฐ ข้าวขาว 5% ตันละ 407 เหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนามตันละ 370 เหรียญสหรัฐ อินเดียตัน 375 เหรียญสหรัฐ และปากีสถานตัน 364 เหรียญสหรัฐ สำหรับการระบายของในสต็อกรัฐบาล มีปริมาณ 16.84 ล้านตัน มีมูลค่า 145,080 ล้านบาท