แล้งหนักสะเทือนสินค้าเกษตร ฝนน้อยข้ามปี-เขื่อนใหญ่น้ำแห้งขอด

เอลนิโญพ่นพิษภัยแล้งลากยาวกระทบรุนแรงถึงปี’63จากภาวะ “ฝนน้อย-น้ำน้อย” ต้นฝนล่าช้าเป็นปลายเดือนพฤษภาคม น้ำไหลลงเขื่อนใหญ่ปริมาณน้อย จำนวน 12 เขื่อนมีน้ำไม่ถึงครึ่งอ่าง “อุบลรัตน์-สิรินธร-กระเสียว” วิกฤตหนักถึงขั้นขาดน้ำกินน้ำใช้ สทนช.ของบฯ 1,300 ล้านทำ 144 โครงการเร่งด่วนช่วยภัยแล้ง หวั่นปีหน้าราคาข้าวพุ่งเหตุชาวนาไม่เชื่อราชการ แห่ปลูกข้าวนอกเขตชลประทานเสี่ยงเสียหายหนัก

 

ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์น้ำในปี 2563 ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะฝนตกน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ El Nino ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2561 คาดการณ์ตลอดทั้งปี 2562 ทำให้เกิดฝนตกน้อยในต้นฤดูฝนของปี 2562 จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง-เล็กทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เริ่มต้นปีน้ำ (เมษายน 2562) ด้วยปริมาณน้ำที่น้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เทียบเคียงได้กับปี 2558 ที่มีฝนน้อยเช่นกัน

ภาคกลางฝนต่ำกว่าเกณฑ์

ปริมาณฝนตลอดทั้งปี 2562 คาดการณ์ทั้งประเทศจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปีเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลาง ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ที่ “ต่ำกว่า” กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1,276.9 มม. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 เม.ย. ปริมาณฝนเฉลี่ย 127.6 มม. ฝนปี 2562 ที่ 54.3 มม. หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 73.3 มม. และน้อยกว่าปี 2561 ที่ 203.8 มม.

“ปริมาณฝนในภาคกลางถือว่าต่ำมาก ๆ ต่ำสุดในรอบ 7 ปี จะมีผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแน่นอน ถ้าปี 2562/63 ชาวนายังปลูกข้าวเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้เหมือนอย่างในปี 2561/62 ซึ่งก็ปลูกเกินกว่าแผนไปมากเช่นกัน” ดร.ชวลิตกล่าว

เขื่อนอุบลรัตน์ใช้น้ำติดลบ

สภาพการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 มีปริมาตรน้ำในอ่าง 41,835 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,915 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34) ปริมาตรน้ำในอ่างเทียบกับปี 2561 (47,195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62) หรือน้อยกว่าปี 2561 จํานวน 5,360 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 2,622 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27%, สิริกิติ์ 1,840 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22%, แควน้อยบำรุงแดน 196 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22% และป่าสักชลสิทธิ์ 171 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% รวม 4 เขื่อนเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 4,829 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 27% เท่านั้น

ส่วนเขื่อนที่มีปริมาตรน้ำน้อยกว่า 30% ในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 12 เขื่อน ได้แก่ แม่กวงอุดมธารา (52 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21%), แควน้อยบำรุงแดน (196 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 22%), ห้วยหลวง (23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18%), อุบลรัตน์ (-5 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 0%), ลำปาว (358 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 19%), ลำพระเพลิง (27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17%), ลำนางรอง (33 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28%), ป่าสักฯ (171 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18%), ทับเสลา (21 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15%), กระเสียว (22 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 9%), ขุนด่านปราการชล (33 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15%) และคลองสียัด (47 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 19%)

“ฤดูแล้งปีนี้ในภาพรวม แม้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) จะประคับประคองการใช้น้ำได้ดี แต่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 อ่างที่เข้าขั้นวิกฤต ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการน้ำในปี 2563 มากคือ เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาดนี้ปริมาตรใช้น้ำติดลบเป็น 0 น่าห่วงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำกินน้ำใช้ในพื้นที่ขอนแก่น-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด รองลงมาก็คือ เขื่อนสิรินธร (ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 862 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30) และเขื่อนกระเสียว (22 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9) พื้นที่เพาะปลูกและใช้น้ำจากทั้ง 3 เขื่อนปี 2563 จะหนักมาก ความจริงทั้ง 3 เขื่อนส่ออาการมาตั้งแต่ฤดูฝนปี 2561 แล้วที่มีน้ำไหลลงอ่างไม่ถึงครึ่ง มาปีหน้า (2563) จะไม่เริ่มต้นที่น้ำไม่ถึง 20% แต่เริ่มต้นที่ 0 ประกอบกับเป็นอ่างใหญ่ยากที่จะดึงน้ำเข้ามาให้ถึงครึ่งอ่างเพียงแค่ฤดูฝนเดียวได้” ดร.ชวลิตกล่าว

El Nino ลากยาวถึงสิ้นปี

ประกอบกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model เผยแพร่โดย NOAA ยืนยันการเกิดสภาวะ El Nino ฝนน้อยน้ำน้อย อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่วัดค่าได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยทั่วไปมีค่า “สูงกว่า” เกณฑ์เฉลี่ย มีความผิดปกติของการนำความร้อนและ “ลมร้อน” เกิดขึ้นควบคู่กับสภาวะ El Nino ส่งผลให้สภาวะ El Nino ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคม (โอกาสประมาณ 65%) และภาวะนี้ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ปกติไปจนถึงช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 (โอกาส 50-55%)

“ภาวะ El Nino เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 แล้ว และมีภาวะนี้มาโดยตลอดถึงปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง ฝนน้อยน้ำน้อย ตรงนี้จะส่งผลสำคัญต่อฤดูฝนปี 2562 ค่อนข้างแน่นอนว่า ฝนจะตกล่าช้าไป และเมื่อเข้าฤดูฝนจริง ๆ ฝนก็จะตกน้อยอีก เรียกว่า เกิดภาวะฝนน้อย ซึ่งน่ากลัวมากกับการบริหารจัดการน้ำในปี 2563 แตกต่างจากปี 2561 ที่ต้นฤดูฝนฝนตกมาก ทำให้น้ำไหลลงอ่างเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ดี สามารถบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562 ได้ แต่ฤดูฝนปีนี้ (2562) ต้นฝน ฝนจะตกน้อยจากภาวะ El Nino น้ำไหลลงอ่างน้อย จะส่งผลกระทบต่อฤดูแล้งปี 2563 แน่นอนเป็นภาวะฝนน้อยเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2558 น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ปีหน้าจะน้อยลงทุกอ่าง อ่างที่เหลือน้ำใช้การได้ต่ำกว่า 20% จะแย่โดยเฉพาะอุบลรัตน์-สิรินธร-กระเสียว รวมถึงขุนด่านปราการชลก็น้ำน้อยไปหน่อย” ดร.ชวลิตกล่าว

แห่ปลูกข้าวเกินแผน

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเพาะปลูกพืชเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวในปี 2563 ซึ่งเป็นปีฝนน้อยค่อนข้างแน่นอน จะเพาะปลูกได้เฉพาะพื้นที่ชลประทานเท่านั้น ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ถ้าชาวนายังไม่ยอมลดพื้นที่ปลูกข้าว ผลผลิตข้าวจะเสียหายแน่ ประกอบกับน้ำในเขื่อนน้อยจากภาวะฝนตกน้อยในช่วงต้นฝนก็จะเหลือน้ำมาบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกได้น้อยกว่าปี 2562 และชาวนาก็ไม่ค่อยเชื่อฟังการลดพื้นที่ปลูกข้าวลง หรือต้องปลูกได้เฉพาะที่อยู่ในแผนเท่านั้น

“ปี 2562 ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคมที่ผ่านมา ข้อมูลจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA มีการปลูกข้าวถึง 5.72 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผน พอมาถึง 1-15 เมษายน พื้นที่ปลูกข้าว 3.15 ล้านไร่ หรือเก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.57 ล้านไร่ หากปี 2563 ยังปลูกข้าวเกินกว่าแผนกันแบบนี้จะลำบากมาก เพราะเหลือน้ำที่จะจัดสรรน้อยลง พื้นที่ปลูกนอกเขตชลประทานจะเสียหายเพราะฝนน้อย ผลผลิตข้าวน่าจะลดลง มีโอกาสทำให้ราคาข้าวในปีหน้าสูงขึ้นได้ ส่วนการแก้ปัญหาน้ำในปีหน้ามีหนทางเดียวก็คือ ต้องประหยัดน้ำทุกภาคส่วนกันตั้งแต่บัดนี้ เนื่องจากฝนน้อย ไม่ต้องรอให้แล้งก่อนแล้วค่อยประหยัด” ดร.ชวลิตกล่าว

สทนช.ของบฯกลางช่วย

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีความเป็นห่วง ภาวะ El Nino จะทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงในช่วงต้นฤดูฝนของปีนี้ อาจทำให้ประชาชนเดือดร้อนต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ทาง สทนช.ได้เสนอเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งที่อาจจะยาวนานไปจนถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2562 ต่อ ครม.เพื่อขอใช้งบฯกลาง 1,200-1,300 ล้านบาท จัดทำ 144 โครงการเร่งด่วนแก้ภัยแล้งให้แล้วเสร็จภายใน 80-90 วัน หาก ครม.อนุมัติโครงการก็จะมีโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 26 แห่งวงเงิน 100 ล้านบาทเศษรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้วเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา วงเงิน 1,226 ล้านบาทเศษ

“กรณีของเขื่อนอุบลรัตน์ หากยังเกิดภัยแล้งต่อเนื่องจะมีการนำน้ำในสต๊อกสำรองประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.ออกมาใช้ ส่วนการประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะประกาศวันที่ 22-23 พฤษภาคม หรือล่าช้าประมาณ 1 สัปดาห์ และคาดว่าปริมาณฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา” ดร.สมเกียรติกล่าว

ฝนล่ากระทบผลผลิตข้าว

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งหรือฝนมาช้าขณะนี้ยังประเมินผลกระทบต่อราคาและผลผลิตข้าวทันทีไม่ได้ โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 และข้าวนาปี 2562/63 แต่หากฝนมาล่าช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้ก็จะกระทบต่อผลผลิตได้ โดยราคาข้าวเปลือก 5% ขณะนี้อยู่ที่ 7,500-7,800 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลิ (ความชื้น 15%) 15,000-17,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกเหนียว (ความชื้น 28-30%) 10,500-11,000 บาท/ตัน

ส่วน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งฝนมาล่าช้าจะมีผลต่อผลผลิตและราคาข้าวในตลาด แต่ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถประเมินได้ทันทีต้องรอดูสถานการณ์ฝนและน้ำในเขื่อนก่อน โดยปกติฝนจะเริ่มมาในช่วงเดือนพฤษภาคม และเกษตรกรก็จะเริ่มเพาะปลูกในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วนสถานการณ์ผลผลิตข้าวในตลาดตอนนี้ข้าวในตลาดน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวมาก่อนหน้านี้แล้ว และช่วงนี้เป็นช่วงปลายเก็บเกี่ยว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!