ป่วน! ดัน กฟผ.เพิ่มส่วนแบ่งไฟฟ้า โยน รมต.ใหม่ชี้ขาดรื้อแผน PDP

กระทรวงพลังงานวุ่น ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอรื้อแผน PDP 2018 ใหม่ กำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าให้ กฟผ.เกินกว่า 51% จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% โยนรัฐมนตรีใหม่ตัดสินใน 120 วัน ด้านผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเผยสัดส่วนผลิตไฟฟ้าถูกผูกมัดไว้ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหมดแล้วตลอดแผน 20 ปี

หนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องการดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปีนับจากปี 2562 ได้สร้างความกังวลให้กับหน่วยงานและภาคเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) เนื่องจากตามแผนฉบับปัจจุบันที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วางกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไปจนกระทั่งถึงปี 2580 ภายใต้การเตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตไฟฟ้า (ระหว่างภาครัฐ (กฟผ.)-ภาคเอกชน) ภายใต้ความเชื่อว่า การแข่งขันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ “ดีกว่า” ที่จะถูก “ผูกขาด” โดยผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยประเด็นนี้ตามข้อร้องเรียนของนายสุทธิพร ปทุมทวาภิบาล มีความเห็นกรณีรัฐมิได้เป็นเจ้าของระบบการผลิตไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และส่งผลต่อ “สัดส่วน” การผลิตไฟฟ้าของรัฐที่ปัจจุบันมี “น้อยกว่า” ร้อยละ 51 นั้น เป็นประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 56 (2) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุสาระสำคัญไว้ว่า รัฐต้องจัดการระบบสาธารณูปโภค (หมายรวมถึงระบบผลิตไฟฟ้า) โดยไม่ยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือรัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้

พร้อมกันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ให้ข้อ “เสนอแนะ” ต่อกระทรวงพลังงานใน 2 ประเด็นคือ 1) ให้พิจารณา “ทบทวน” ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (2559-2563) กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า “ไม่น้อยกว่า” ร้อยละ 51 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน กับ 2) ต้องดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายในกำหนดเวลา 10 ปีนับจากปี 2562

สัดส่วน กฟผ.เหลือ 24%

สำหรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งหมายถึงโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผน PDP 2018 ในระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ระบุกำหนดผลิตไฟฟ้าช่วงปี 2561-2580 กำลังผลิตสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 46,090 เมกะวัตต์ (MW) กำลังผลิตที่ปลดออกปี 2561-2580 ที่ -25,310 MW กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 2561-2580 ที่ 56,431 MW ดังนั้นกำลังผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2580 จะอยู่ที่ 77,211 MW โดยปี 2560 กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 34.9 แต่เมื่อถึงปี 2580 กฟผ.จะมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่แค่ร้อยละ 24 เท่านั้น

ดังนั้นพอถึงสิ้นปี 2580 กำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงตามที่กำหนดไว้ในแผน PDP 2018 จะถูกเพิ่มขึ้นให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน กล่าวคือ VSPP ร้อยละ 25, กฟผ.ร้อยละ 24, IPP ร้อยละ 13, SPP ร้อยละ 11, การรับซื้อไฟจากต่างประเทศร้อยละ 11 และโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะให้ใครเป็นผู้ผลิตอีกร้อยละ 11 (ประมาณ 8,300 MW)

“แม้จะนำโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ตัดสินว่าจะให้ใครผลิตอีกร้อยละ 11 มาให้ กฟผ.ทั้งหมดก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เท่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าปี 2560 ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่สัดส่วนร้อยละ 51 ดังนั้นการเพิ่มสัดส่วนให้ถึงร้อยละ 51 หมายถึงต้องรื้อแผน PDP 2018 ที่สำคัญ โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบใน 20 ปีข้างหน้ามากกว่าร้อยละ 90 มีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า ไว้กับ IPP-SPP-VSPP แล้ว” แหล่งข่าวในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ตั้งข้อสังเกต

ยันมติ กพช.ตามกรอบ รธน.

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่าได้มีการพิจารณาในประเด็น “ข้อเสนอแนะ” ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างไร

โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กำลังพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน “ตามขั้นตอน” แต่ยืนยันว่า แผน PDP ฉบับที่ผ่าน ๆ มา ภาคเอกชน (รวมถึง IPP-SPP-VSPP) มีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 และแผน PDP ทุกฉบับ ครม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ “จึงเป็นการดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด”

เปิดช่องเคลียร์ผู้ตรวจ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานกรณีที่กระทรวงพลังงานได้รับ “ข้อเสนอแนะ” จากผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 จะให้เวลากระทรวงพลังงานดำเนินการเป็นระยะเวลา 120 วัน และขยายต่อไปได้ไม่เกิน 60 วัน หากยังไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ถือว่ากระทรวงพลังงานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันทําให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบโดยเร็ว โดยให้ถือว่า รายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นสํานวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.

แต่ในกรณีที่กระทรวงพลังงานเห็นว่า ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่อาจดําเนินการได้ก็ให้แจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 120 วัน และให้ปรึกษาหารือร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคนั้นโดยเร็ว เพื่อให้ได้ข้อยุติ หากไม่อาจหาข้อยุติได้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้กระทรวงพลังงานดําเนินการไปตามมติ ครม.

“มีความเป็นไปได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่จะเข้ามาตัดสินใจในเรื่องนี้ เนื่องจากยังอยู่ในเวลา 120 วัน อาจจะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้พิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า จะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร” แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงานกล่าว