ทัพนักลงทุนญี่ปุ่นบุกอีอีซี แมตชิ่งธุรกิจ-MOU7ฉบับ

“สมคิด” นำทีม รับ รมต.กระทรวงมิติของญี่ปุ่น นำทัพนักลงทุน 500 คนเยือนไทย ฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 130 ปี “บิ๊กตู่”รับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ พร้อมจัดแมตชิ่งนักธุรกิจระดับ V.I.P. ฝ่ายไทย-ญี่ปุ่น เตรียมลงนาม MOU-MOI รวม 7 ฉบับ ก่อนนำคณะลงพื้นที่อีอีซี บูมลงทุน 10 อุตฯเป้าหมายใหม่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นและสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในวาระครบ 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2560 ทางรัฐบาลและสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นจะนำนักลงทุนระดับซีอีโอและผู้บริหาร 500 คน เดินทางมาในวันที่ 11-13 ก.ย. 2560 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทัพนักลงทุนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก

ทัพนักลงทุนญี่ปุ่นบุกอีอีซี

นักลงทุนญี่ปุ่นจะลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สนับสนุนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (มิติ) จะร่วมมือกับไทย ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่มีนักลงทุนญี่ปุ่นอาศัยอยูมากกว่า 70,000 คน

“เพื่อให้คนทั้งโลกเห็นว่า ญี่ปุ่นกับไทยมีความสัมพันธ์กันมานานและแน่นแฟ้น ซึ่งนักธุรกิจที่มาก็เป็นระดับผู้บริหารและซีอีโอจากบริษัทแม่ รวมทั้งเจโทร ฟูกูโอกะ และนิเคอิ ถือเป็นโชคดีของเรา”

จัดแมตชิ่งธุรกิจระดับ V.I.P.

นายสมคิดกล่าวว่า กำหนดการหลังคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่นจะเดินทางถึงไทยวันที่ 11 ก.ย. จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารค่ำ วันที่ 12 ก.ย. เป็นงานสัมมนาและพบปะกับนักลงทุนภาคเอกชนของไทย ซึ่งจะมีการนำนักธุรกิจระดับ วี.ไอ.พี.ของไทยและญี่ปุ่นมาเจอกัน ที่เรียกว่าเป็นการแมตชิ่ง และจากนั้นวันที่ 13 ก.ย. คณะทั้งหมดจะเดินทางไปดูพื้นที่อีอีซี

ลงนาม MOU-MOI 7 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดภาครัฐได้จัดทำร่างกำหนดการ Symposium on Thailand 4.0 towards Conected (กิจกรรมความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น) ในวันที่ 12 ก.ย.จะมีพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MOU) และหนังสือแสดงเจตจำนง (MOI) ระหว่างฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น 1.สมาพันธธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI) 2.สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)

3.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Flex Campus 4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร กับบริษัท ฮิตาชิ 5.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับเจโทร 6.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับองค์กรสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) 7.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับบริษัท JC Sevice Co.,Ltd.

จับคู่พันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น

จากนั้นจะมีการประชุมทวิภาคีฝ่ายไทยประกอบด้วย รองนายกฯสมคิด รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง กับฝ่ายญี่ปุ่น นำโดย รมต.กระทรวงมิติ กับคณะ ส่วนช่วงบ่ายจะมีการนำเสนอในหัวข้อ Investment Opportunities in Thailand โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กับนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนำเสนอในหัวข้อ New Emerging Opportunities Thailand-Japan Parnership โดยตัวแทนเอกชนญี่ปุ่นและเอกชนไทย โดยฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ไทยแลนด์) Azbil Corpora-tion และบริษัท อาซาฮี กลาส เคมิคอล (AGC) กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจระหว่างนักลงทุนไทยและญี่ปุ่น แยกเป็น 4 โซน 1.โซนอุตฯยานยนต์ การบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน 2.อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ 3.อุตฯการแพทย์ การเกษตร อาหาร ฯลฯ 4.อุตฯบริการ การค้า ค้าปลีก โลจิสติกส์ ฯลฯ จบด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น ฝ่ายละ 3 บริษัท

อุตตมหวังดึงญี่ปุ่นลงทุน EEC

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทั้ง 500 บริษัทญี่ปุ่น ขณะนี้ได้รับการยืนยันมาแล้วหลายราย อาทิ อายิโนะโมะโตะ, คูโบต้า, ฮิตาชิ, Azbil Corporation ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านระบบจัดการพลังงานสำหรับอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม และผลิตเครื่องมือตรวจวัดสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี, Asahi Glass Chemicals-AGC ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเคมีภัณฑ์ อาทิ โซดาแอช, กลุ่มคลอร์-อัลคาไล และยูรีเทน, Mitsubishi, Kobayashi, Mitsubishi Motor เป็นต้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ให้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สรุปรายชื่อนักลงทุนไทยที่ต้องการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับทางบริษัทญี่ปุ่น มาให้กระทรวงทันที ซึ่งทางญี่ปุ่นเองมีความพร้อมที่จะ Matching อยู่แล้ว

จัด 400 บ.ไทย พบ 800 บ.ญี่ปุ่น

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางหอการค้าฯได้รวบรวมจำนวนนักลงทุนไทยประมาณ 400 ราย ซึ่งจัดกลุ่มออกเป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะเข้าร่วมการประชุมสัมมนาในวันที่ 12 ก.ย. กับทาง METI โดยนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเดินทางมา 500 บริษัท รวมกับนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วอีก 300 บริษัท รวมกว่า 800 บริษัท ส่วนบริษัทใหญ่ที่ยืนยันเข้าร่วมงานของไทย เช่น SCG, ปตท., เซ็นทรัล, ศรีไทย เป็นต้น