บอร์ด EEC เห็นชอบ(ร่าง)ผังเมืองรวม อาจไม่ทันประกาศ 9 ส.ค. แต่ยันคงเกษตรชั้นดีไว้เช่นเดิม

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ เลขาฯ EEC) กล่าวภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 8/2562 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ เห็นชอบ (ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ(ร่าง) แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC

ซึ่งการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้วางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตในระยะ 20 ปี (2560 – 2580) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ 8,291,250 ไร่ โดยในปี 2560 มีประชากร 4,015,168 คน และคาดว่าในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 6,006,380 คน

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้กำหนดให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทต่างๆ ให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพและบทบาทของพื้นที่ พร้อมพัฒนา ระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเชื่อมโยงการพัฒนาเมืองและชนบทให้มีความเหมาะสมคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ได้แก่

1.พื้นที่พัฒนาเมือง ประกอบด้วย ที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม ที่ดินประเภทชุมชนเมือง ที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาเมือง และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 2.พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม 3.พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทชุมชนชนบท ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม และที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฏีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน 4.พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม

“ร่างผังเมืองใหม่นี้จะทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดิม มีพื้นที่รวม 45,000 ไร่ เป็น 70,000 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 26,000 ไร่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม 304 ที่มีอยู่เดิมขอขยายพื้นที่ จึงเพิ่มให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกัน เพื่อการดูแลที่เป็นระบบ การทำผังเมือง EEC ครั้งนี้กระทบภาคเกษตรไม่มาก เพราะพื้นที่เกษตรลดลงประมาณ 8% แต่จะเพิ่มเป็นพื้นที่เมือง 3% พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่ม 2% ส่วนพื้นที่อีก 3% กันเป็นพื้นที่รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น บริเวณริมแม่น้ำ ริมทะเล ริมอ่างเก็บน้ำ กันพื้นที่ประมาณ 500 เมตร 2 ฝั่งเอาไว้ พื้นที่เกษตรชั้นดีมีระบบชลประทานยังคงอยู่ทั้งหมด ส่วนพื้นที่ทำการเกษตรไม่ดีได้เปลี่ยนพื้นที่เป็นเมือง ซึ่งสามารถทำประโยชน์อื่นได้ดีกว่า ”

ดังนั้น การจัดทำผังการใช้พื้นที่ของ EEC เนื่องจาก เดิมเป็นผังเมืองจังหวัด จัดทำคนละเวลา ไม่มีความเชื่อมโยงกันทั้งพื้นที่ ซึ่งเมื่อมีแผนการพัฒนาพื้นที่ร่วม 3 จังหวัด ในรูปของ EEC ต้องเตรียมการให้การใช้พื้นที่สอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยลดผลกระทบการใช้พื้นที่แบบตัวใครตัวมัน นั่นคือจัดทำผังการใช้พื้นที่ เพื่อนำไปสู่การทำผังเมืองทั้ง 3 เมืองในอนาคต โดย ใช้ พรบ. EEC เป็นกรอบการดำเนินการ และให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยหลังจากนี้จะเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาและประกาศใช้ ซึ่งตามกำหนดกรอบเวลาคือ 1 ปี (8 ส.ค.2562) หากไม่ทันเวลาตามที่กำหนด 1 ปี ก็สามารถเลือนการประกาศใช้ได้ จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองจะจัดทำผังเมืองของชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ พ.ย.นี้

สำหรับความคืบหน้าเรื่องอื่น ๆ ที่ประชุมรับทราบขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้ 100,000 ล้านบาท/ปี และเตรียม ให้บริการ One Stop Service โดย EEC OSS ปลายเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับเพื่อนบ้านและเอเชีย ( ECC ประเทศไทย – CLMV เอเชีย) ลดต้นทุน Logistics ด้วยความเชื่อมโยงขนส่งทางกายภาพและระบบข้อมูลทันที

จัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล EECd และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการลงทุนวิจัย และนวัตกรรม EECi ให้เป็นรูปธรรม ดำเนินการ PPP กับโครงการ EECd /ให้เป็นเมืองอัจฉริยะตัวอย่างและจุดดำเนินการ 5G ประสานภาคเอกชนให้เตรียมใช้บริการจาก EECi ให้เกิดประโยชน์สูงสุด