กนอ.เล็งลดค่าเช่าอุ้มSME ขยายผลถมทะเล3พันไร่

กนอ.กันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ให้ SMEs ใช้งบฯ 2,000 ล้านบาท จัดสรรให้ก่อน “สุริยะ” พร้อมหนุนงบฯเพิ่มหากไม่พอ พร้อมให้สถาบันปิโตรเลียมศึกษาการถมทะเล 3,000 ไร่ ให้เอ็กซอน 1,000 ไร่ 6 เดือนแล้วเสร็จ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ว่า รัฐบาลต้องการช่วยเหลือฐานรากให้มีความมั่นคง และมีโอกาสในการทำธุรกิจ จึงให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งหาพื้นที่รองรับการลงทุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ประกอบการใหม่ (startup) โดยเร็ว

โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค (Smart Park) จ.ระยอง เพื่อให้ทำเลที่เหมาะสม และราคาค่าเช่าไม่แพงรองรับ ซึ่ง กนอ.อาจต้องหารือกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อลดราคาพื้นที่เช่านิคมอุตสาหกรรมในส่วนที่ กนอ.เช่ากับกรมธนารักษ์ เพื่อนำไปสู่การลดค่าเช่าสำหรับ SMEs เช่น ปัจจุบันอัตราค่าเช่าในนิคมอยู่ที่ 160,000-200,000 บาท/ปี ซึ่งอัตรานี้หากได้ที่ดินพร้อมอาคารก็เป็นแนวทางที่เหมาะสมดี แต่ทั้งนี้หากเป็นพื้นที่เปล่าก็ควรลดค่าเช่าลง

“กนอ.มีบทบาทที่สำคัญในเรื่องสำคัญเรื่องการจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการใหม่ startup เราจะทำอย่างไรให้ SMEs มีที่ดินในทำเลที่เหมาะสม และราคาค่าเช่าไม่แพง ส่วนตัวเห็นว่าผลการดำเนินงานของ กนอ.ก็พอมีกำไร สามารถนำงบฯส่วนนั้นจัดสรรหาพื้นที่ได้ หากไม่พอ รัฐจะเข้าไปช่วยส่วนที่เหลือได้ ขอให้เสนอมา”

นอกจากนี้ ทาง กนอ.ได้จ้างให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ในการถมทะเล ในพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 3,000 ไร่ ว่าควรมีรูปแบบ การใช้เทคโนโลยีอย่างไร ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็น ความคุ้มทุน เพื่อรองรับนักลงทุน ซึ่งพื้นที่ 3,000 ไร่ ส่วนหนึ่ง 1,500 ไร่ จะแบ่งให้สำหรับโครงการปิโตรเคมีการลงทุนของบริษัท เอ็กซอน

โมบิล คอร์ปอเรชั่น และส่วนที่เหลือจะรองรับโครงการอื่น ๆ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยไม่ปิดกั้นนักลงทุนรายอื่น เช่น เชลล์ หากสนใจลงทุน โดยรูปแบบการถมทะเลสามารถทำได้ทั้งแบบที่ให้เอกชนลงทุน และรัฐดำเนินการเอง คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน หรือประมานต้นปี 2563 จากนั้นจะสรุปว่าสามารถถมทะเลได้หรือไม่

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มอบหมายให้ กนอ.จัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ประกอบการใหม่ (startup)

โดยเฉพาะ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่พร้อมแบ่งให้สำหรับ SMEs คือ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค (Smart Park) ในสัดส่วนประมาณ 10% ของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พื้นที่เต็มทั้งหมด

โดย กนอ. มีรายได้อยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ส่วนนี้ไปก่อน หากไม่พอจะเสนอของบประมาณรัฐเพิ่มส่วนรูปแบบการลงทุนถมทะเล มี 3 แนวทาง คือ 1.รัฐลงทุนเอง 2.เอกชนลงทุนทั้งหมด 3.ร่วมกันลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมามี 2 แห่งที่รัฐลงทุนถมทะเล คือ ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 1-2 และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งตามแนวที่เหมาะสมนั้นรัฐจะต้องเป็นผู้ลงทุนในส่วนของท่าเรือ ส่วนพื้นที่ถมทะเลจะเป็นเอกชนลงทุน ทั้งนี้ เหตุผลที่ควรศึกษาภาพรวมการถมทะเลทั้ง 3,000 ไร่ในคราวเดียว เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตจากนักลงทุนรายอื่นด้วย