สถานการณ์พลังงานเปลี่ยน! กบง.ล้มดีล กฟผ. นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

“สนธิรัตน์” เผย กบง.เคาะยกเลิกรูปแบบประมูล LNG ปรับให้ทดลองนำเข้าแบบ Spot ล็อตแรก 90,000 ตัน พร้อมไฟเขียวอีก 3 เรื่องชง กพช. 2 ก.ย.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม กบง.เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้า LNG ของ กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่ กฟผ. และ ปตท.จึงมีมติให้ กฟผ.จัดซื้อ LNG แบบ Spot สำหรับการทดลองระบบการแข่งขัน ตามที่ กพช. ได้มีมติไว้เมื่อ 31 ก.ค. 60 และให้นำประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างราคาก๊าซฯ หลักเกณฑ์การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ต่อ กพช.พิจารณา ส่วนการไปเจรจาสัญญากับ Petronas มอบหมาย ให้ กฟผ. ไปเจรจา รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องสัญญาการใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ มอบหมาย ให้ กกพ. ปตท. กฟผ. ไปดำเนินการเช่นกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากได้พิจารณาจากสถานการณ์ LNG ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยราคา LNG Spot ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 USD/MMBTU ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง ซึ่งการจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ ดังนั้น ความจำเป็นในการนำเข้า LNG มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งสำคัญคือการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ไม่ควรส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและต้องไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay อาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการแบ่งราคา LNG เป็น 2 Pool และข้อจำกัดของกฎหมายในกรณีที่ กฟผ. จะนำ LNG ไปจำหน่ายในตลาดอื่นก่อนดำเนินการต่างๆ ซึ่งจากการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงมีมติเห็นชอบดังกล่าว

“สถานการณ์ LNG ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป จาก LNG Spot ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 USD/MMBTU ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง แต่การจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ด้วย ต่อจากนี้ก็ยกเลิกรูปแบบประมูล LNG แต่ให้เริ่มนำเข้า LNG เป็นล็อตซึ่ง กฟผ.ต้องนำเข้าแบบ spot ซึ่งจะทดลองล็อตแรก 90,000 ตัน และเมื่อไม่มีการประมูลแล้วจะเลือกผู้นำเข้าเป็นใครก็ได้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ยังคงคำนึงถึงแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนในภาพรวม

สำหรับความคืบหน้านโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ได้หารือถึงพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศที่สามารถส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆให้ชุมชนมีส่วนร่วมลงทุนโรงไฟฟ้ากับภาครัฐหรือเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามเป้าหมายแผน AEDP และสอดคล้องกับแผน PDP2018 ตามศักยภาพพื้นที่ อาทิ พืชพลังงาน พลังงานแสงอาทิตย์ สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่และราคารับซื้อต้องกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด โดยคาดว่า โรงไฟฟ้าชุมชนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 ก่อให้เกิดการเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบาย “Energy For All”

นอกจากนี้ กบง.ยังเห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ให้ขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลฯ (บี7) ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลฯ (บี7) ที่ 3 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และเห็นชอบตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ให้บังคับใช้น้ำมันดีเซลฯ บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฯ เกรดพื้นฐาน โดยให้น้ำมันดีเซลฯ (บี7) และน้ำมันดีเซลฯ บี20 เป็นทางเลือก ผลจากการใช้กองทุนฯ ในนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี 10 ทำให้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ น้ำมันดีเซลฯ (บี7) จากปัจจุบัน 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 1.25 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลฯ บี 10 จากปัจจุบัน -0.35 บาทต่อลิตร เป็น -0.60 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากปัจจุบัน -4.20 บาทต่อลิตร เป็น -1.45 บาทต่อลิตร โดยการใช้กลไกด้านราคานี้จะเพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ สร้างความมั่นคงทางพลังงานที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบในประเทศ รักษาเสถียรภาพระดับราคา CPO ของประเทศรวมถึงมีค่ายรถยนต์รับรองว่าใช้น้ำมันดีเซลฯ บี10 ได้ประมาณแล้ว 5.2 ล้านคัน จากจำนวน 10.4 ล้านคัน หรือร้อยละ 50 ของรถยนต์ดีเซลทั้งหมด

“ผู้ค้าน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ บี10 มีความพร้อม และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ”

สำหรับการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กบง.ได้มีมติเห็นชอบ กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) เป็น “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” และเพื่อให้การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ความเหมาะสมและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบาบพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 2 ก.ย.นี้