7 มาตรการด่วนช่วยเยียวยาเอกชนน้ำท่วม 423 ราย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ในหลายพื้นที่

เบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมรับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 36 ราย เช่น โรงสีข้าว โรงงานไม้แปรรูป โรงงานผลิตน้ำดื่ม รวมทั้งมีลูกหนี้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัตถกรรมจักรสานต่างๆ ที่อยู่ในเขตอุทกภัย มีผู้ประสบภัยประมาณ 387 ราย รวมผู้ประสบภัย 423 ราย ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 133 ล้านบาท

โดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านภาคอุตสาหกรรมประมาณ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มุกดาหาร นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ พิจิตร อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก

และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกกลุ่มทันทีหลังสถานการณ์น้ำลด โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูสถานประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน รวม 7 มาตรการ

1. ช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พักชำระหนี้ และเติมเงินทุนฟื้นฟูธุรกิจ เตรียมสินเชื่อไว้ 2 ประเภท คือ สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ ดอกเบี้ยพิเศษ 0.415% และสินเชื่อ Smart SME ดอกเบี้ยพิเศษ 0.55%

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ยังมีสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

โดยคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ได้อนุมัติวงเงินเบื้องต้นไว้ประมาณ 20 ล้านบาท ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 4% เหลือ 1 % ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี โดยลูกค้าใหม่ที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัย สามารถขอสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 500,000 บาท ตามความจำเป็นของกิจการ

ขณะที่ลูกหนี้รายเดิมสามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติตามสัญญาเดิม แต่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย มีระยะเวลาพักชำระหนี้หรือปลอดหนี้เป็นเวลา 4 เดือน

ล่าสุดมีผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ประมาณ 387 ราย มาขอสินเชื่อแล้ว 19.4 ล้านบาท จึงได้ให้แต่ละพื้นที่เร่งรวบรวมคำขอสินเชื่อเข้ามา เพื่อให้คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติเพิ่มวงเงินช่วยเหลือ จากกรอบวงเงินสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนฯ ที่เหลือประมาณ 216 ล้านบาท

2. Big Cleaning เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ และผู้ประกอบการรายใหญ่ (Big Brother) รวมทั้งหน่วยงานเครือข่าย เพื่อทำความสะอาดสถานประกอบการ โรงงาน อาคาร บ้านเรือน ทางสาธารณะ และพื้นที่ชุมชน ให้พื้นที่กลับมาอยู่ในสภาพปกติ

3. ซ่อมแซม ปรับปรุง เร่งด่วน เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ และ Big Brother รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมอุปกรณ์ และเครื่องจักรเบื้องต้น เช่น การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ระบบหล่อลื่น เพื่อให้อุปกรณ์และเครื่องจักรสามารถกลับมาใช้งานได้อย่างเร็วที่สุด รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักร อุปกรณ์ เช่น รถแบ็คโฮ รถแทรกเตอร์ รถบรรทุก ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน

4. การฟื้นฟูวิสาหกิจแบบบูรณาการ โดยจัดทีมนักวินิจฉัย และที่ปรึกษา เพื่อเข้าไปวางแผนการฟื้นฟูในสถานประกอบการ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือศูนย์ SME Support & Rescue Center เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านที่ผู้ประกอบการต้องการฟื้นฟูต่อไป

5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

6. กรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัด จะประสานร่วมกับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พร้อมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

7. มาตรการอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จะเข้าสำรวจ เยี่ยมเยือน ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานเอสเอ็มอี ,วิสาหกิจชุมชน(โอทอป) เหมืองแร่ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

“มาตรการทั้งหมดนี้ เตรียมพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว เมื่อสถานการณ์น้ำลด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ทำทันที ระหว่างนี้หากผู้ประกอบการรายใดที่ได้รับผลกระทบ สามารถแจ้งไปได้ที่อุตสาหกรรมจังหวัด หรือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ทันที”