“บิ๊กตู่” เตรียมแจกพันธุ์ปลาสู้น้ำท่วม “ประภัตร” ชง ครม.ปลูกถั่วเขียว-เลี้ยงวัวขุนส่งออก

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.หารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปัญหาหลักคือ ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำและต้องมีค่าใช่จ่ายในการระบายน้ำออก ทำให้ไม่น้ำเก็บกักไว้ใช้ในช่วงแล้ง

“นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในไร่นา ในชุมชนในช่วงน้ำท่วม และมีมาตรการเสริมโดยการแจกพันธุ์ปลา โดยไม่ต้องเร่งระบายน้ำออก ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารน้ำ น้ำใต้ดิน รวมถึงการแจ้งเตือนภัย”

ขณะที่นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมครม.ครั้งถัดไปจะเสนอให้ครม.มีมติเห็นชอบโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย พืชระยะสั้นและปศุสัตว์ เช่น ถั่วเขียว วัวขุน ส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร วงเงินสินเชื่อรวมกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย สนับสนุนต้นทุนการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ พันธุ์วัว

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำพร้อมทั้งประเมินสถานการณ์รองรับพายุ ดีเปรสชันที่คาดว่าจะกระทบของต่อไทย ภาคเหนือ ภาคกลางยังคงมีฝนต่อเนื่องและมีฝนหนักบางแห่งต่อที่ประชุมครม. ว่า

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้บริเวณ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนตกหนักถึงหนักมาก วันที่ 3-7 ก.ย.62 ประเทศไทยมีการกระจายตัวของฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (มม.) มีฝนตกหนักมากบริเวณ อ.เมือง (145) อ.หัวตะพาน (138) จ.อำนาจเจริญ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม (117) อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี (116) อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ (100)

ฝนที่ตกต่อเนื่องส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้น เกิดน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ แม่น้ำสายหลัก ส่วนใหญ่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น จากปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้คาดระดับน้ำในแม่น้ำน่าน แม่น้ำชี แม่น้ำมูลและลำน้ำก่ำ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในหลายพื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำยม จ.แพร่ ลำน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ แม่น้ำวังทอง จ.น่าน แม่น้ำน่าน จ.พิษณุโลก ลำน้ำเข็ก อ.วังทอง แม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ ห้วยหลวง จ.อุดรธานี แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร ลำน้ำยัง จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ลำเซบาย จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี แม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดนครพนม มุกดาหาร โขงเจียม แนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 46,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56 % แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ต้องเฝ้าระวัง หนองหาร (104%) อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก แต่มีแนวโน้มลดลง และศรีนครินทร์ (81%) เฝ้าระวังน้ำน้อย 13 แห่ง โดยมีแนวโน้มปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น 33 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีน้ำไหลลงแหล่งน้ำรวม 13,995 ล้าน ลบ.ม. ระบายออกรวม 11,850 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำขนาดกลาง เฝ้าระวังน้ำน้อย 106 แห่ง มีแนวโน้มปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น 72 แห่ง แหล่งน้ำที่เสียงน้ำมากกว่าความจุ 70 แห่ง ได้แก่ เหนือ 2 แห่ง ตะวันออกเฉียงเหนือ 65 แห่ง ตะวันออก 3 แห่ง คุณภาพน้ำ ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าค่ามาตรฐาน บริเวณ แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำนครชัยศรี

การจัดการน้ำเขื่อนหลักยังเป็นไปตามแผน พร้อมเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่าง ลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก บริหารจัดการตามแผน การระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวม 1.85 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำใช้การรวม 3,323 ล้าน ลบ.ม. (18%) และมีน้ำสำรองเพิ่มจากมาตรการลดการระบายแบบขั้นบันได 2,904 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำชี-มูล 8 เขื่อนหลัก บริหารจัดการน้ำตามแผน การระบายน้ำจาก 8 เขื่อน รวม 8.44 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำใช้การรวม 989 ล้าน ลบ.ม. (17%) และมีน้ำสำรองเพิ่มจากมาตรการ 453 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้บริหารจัดการฤดูแล้ง 62/63 ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในแหล่งน้ำ ในพื้นที่ภาคเหนือ 1 แห่ง กลาง 7 แห่ง ตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ตะวันออก 1 แห่ง

เฝ้าระหว่างน้ำหลาก-ดินโคลนถล่ม เตือนภัย 4 จ. 33 ม. (น่าน เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย) เฝ้าระวัง 4 จ. 20 ม.(เวลา 06.00 น.) พื้นที่ประกาศภัยฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง 13 จ. 79 อ. 534 ต. 6,023 ม.

สนทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมติดตามสถานการณ์น้ำจากพายุโพดุล และติดตามพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำ จากพายุโพดุล และติดตามเฝ้าระวังพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนศูนย์กลางทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประมาณ 300 กม.ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กม./ชม. คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) และเคลื่อนตัวเข้าสู่เกาะไหหลำจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหหลำ ในช่วงวันที่ 2-3 ก.ย.62 และจะส่งผลกระทบให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผลเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง