“สุริยะ” หารือ “Keidanren” “ญี่ปุ่น”กังวลการเมืองไทย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 24-28 กันยายนนี้ว่า คณะฝ่ายไทยได้เข้าหารือกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) โดยนักลงทุนญี่ปุ่น 33 บริษัทยังคงให้ความสนใจที่จะกำหนดให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายการลงทุน แต่ขอให้รัฐบาลไทยเตรียมความพร้อมหลัก ๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านไอทีให้เพียงพอ รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์การจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ 1 คน จะต้องจ้างคนงานไทยประจำอีก 4 ราย หรืออัตราส่วน 1 : 4 ของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเป็นอุปสรรคในการนำผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย

“ผมจะใช้นโยบาย tailor-made หรือการเปิดเจรจากับนักลงทุนเฉพาะรายเพื่อดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น หากนักลงทุนหลายบริษัทมีความต้องการเรื่องของสิทธิประโยชน์คล้ายกัน หรือมีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเราก็จะหารือกับ BOI ว่าจะสามารถปรับแก้หรือออกระเบียบการลงทุนเพิ่มเติมในตัวกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ไทยให้นักลงทุนญี่ปุ่นรับทราบ รวมถึงแพ็กเกจใหม่ Thailand Plus ที่เพิ่งออกมาล่าสุด ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นพอใจมากเพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องการอยู่แล้ว” นายสุริยะกล่าว

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายมาตรการของ BOI ที่กำลังจะหมดลงนั้น “เราไม่ได้กังวลว่ามาตรการที่หมดอายุลงจะส่งผลให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจ” และหากหารือกับนักลงทุนแล้วมีความต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่สามารถแก้ไขให้ได้ก็สามารถเสนอต่อ BOI เพื่อเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) พิจารณาเป็นรายมาตรการได้

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการหารือยังมีนักลงทุนญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้ตั้งคำถามถึงเรื่องความมั่นคงทางการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่าหากรัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศได้ไม่นานก็จะส่งผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายประเทศ ความมั่นใจของนักลงทุนและการตัดสินใจการลงทุนเช่นกัน

ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า การที่ BOI จะต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่กำลังจะต่อไปหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในแต่ละมาตรการด้วย ยกตัวอย่าง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้ใช้มาระยะหนึ่งเพื่อหวังให้ SMEs ยกระดับและสามารถแข่งขันได้ หากไม่ต่อมาตรการนี้ก็ยังคงมีมาตรการอื่น ๆ ที่สนับสนุน SMEs ได้

ขณะที่มาตรการปีแห่งการลงทุน 2562 ชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการต่อมาตรการแน่นอน ล่าสุด BOI ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ “แพ็กเกจ Thailand Plus” ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มสำหรับกิจการเป้าหมายที่อยู่นอกกรุงเทพฯได้รับ “ยกเว้น” ภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 5 ปี กรณียื่นขอรับการส่งเสริมในปี 2563 และลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2564