เกษตรฯวุ่น 2 ม็อบค้าน-สนับสนุนแบน 3 สารเคมี เผชิญหน้าชี้แจงข้อเท็จจริง ‘เฉลิมชัย’ ส่งอลงกรณ์รับหน้าเสื่อเหตุ 2 รมต.ป่วยกะทันหัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง​เกษตร​และ​สหกรณ์​ กล่าวว่า ขอเป็นตัวแทนของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​เกษตร​ฯ และในนามพรรคประชาธิปัตย์​ ในการรับฟังความคิดเห็นเกษตรกร เกี่ยวกับนโยบายแบนสารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งหลังจากนี้จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นจะมีการขับเคลื่อน ประเด็นนี้บรรจุในพ.ร.บ.เกษตรกรรม​ยั่งยืน โดยขอยืนยันยึดตามแนวทางนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และมองว่าเรื่อง 3 สารพิษไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไข ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวและความยั่งยืน

ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งประชาชนทั่วไปร่วมกันสนับสนุนให้เกษตรกร ประมาณ 6% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดให้สามารถปรับตัวไปสู่การปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพา 3 สารพิษร้ายแรง ที่ยื้อกันมาหลายปีซึ่งข้อมูลเรื่องผลกระทบทั้ง 3 สาร เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว โดยให้เกษตรกรปรับตัวไปใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน และการปลูกพืชแบบผสมผสาน วิธีชีวภาพอื่นๆหรือในกรณีจำเป็นก็อาจไปใช้สารทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ทั้งนี้ เครือข่ายสนับสนุนจะยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯก่อนที่จะมีการประชุมชุดคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ โดยเบื้องต้นขอเรียกร้อง 1.ให้มีการโหวตอย่างเปิดเผย 2.ขอให้รัฐบาลผลักดันพรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน

“เราไม่ยินยอมให้บริษัทค้าสารพิษแอบอ้างว่าสารพิษมีราคาถูกกว่าวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี เพียงเพราะรัฐบาลยกเว้นภาษีให้พวกเขา ทั้งที่ทุกคนเสียภาษีเท่ากัน และไม่ได้คำนวณผลกระทบภายนอก (pesticide externalities) มูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาท ต่อปีที่ต้องสูญเสียไปจากการรักษาสุขภาพและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” นายวิฑูรย์กล่าว

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า ขอเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะแยกการกำกับสารเคมี ออกจากพรบ.วัตถุอันตราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คัดกรอง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยแยกออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรกร 500,000 ราย ขอประกาศจุดยืนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่อนุญาตให้ใช้พาราควอต ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ และมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนมากกว่านี้ให้เกษตรดร และขอวิงวอนให้กระทรวงเกษตรฯรับฟังความคิดเห็นเกษตรกรตัวจริงบ้าง

“ก่อนหน้านีเราได้ขอเข้าพบรัฐมนตรี โดยยื่นหนังสือมาถึง 10 ฉบับ แต่ไม่มีการตอบรับเลยแม้แต่ครั้งเดียว ที่ผ่านมาเกษตรกร เป็นผู้รับเคราะห์ ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งกรรมการหลายชุด แต่ท้ายที่สุดหลักฐานต่างๆยังไม่เพียงพอ สิ่งที่สงสัยตอนนี้คือความพยายามแบนอย่างรุนแรงและไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการหาสารทดแทนตัวใหม่ ที่ราคาแพงกว่าหลายเท่า ซึ่งสารทดแทนนี้ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เพราะแพงและอันตรายมากกว่าด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ดี เร็วๆนี้ หากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ตนและกลุ่มเกษตรจะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาเพิกถอนมติดังกล่าวด้วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9ต.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่สามารถมาพบเกษตรกรได้เนื่องจากป่วยกะทันหัน โดยบรรยากาศในกระทรวงเกษตรฯ​มีการเผชิญหน้าของทั้ง 2 กลุ่ม โดยเฉพาะสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำฯได้เข้ามาในห้องหารือร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนไบโอไทยโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และได้ให้ข้อเสนอให้เวลากระทรวงเกษตรฯ ภายใน 15 วัน เพื่อขอเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​เกษตร​และ​สหกรณ์ อีกครั้ง หากไม่เป็นไปตามที่ตกลงก็จะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไปตามข้างต้น จากนั้นในวันเดียวกันนี้ทางสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันฯ เดินทางขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี​ เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวด้วย