ซี.พี.มั่นใจชนะอุทธรณ์อาหารกุ้ง พิสูจน์USAเชื่อปลาป่นปลอดแรงงานทาส

ซี.พี.ผนึกคอสโก มั่นใจชนะ “อุทธรณ์” คดีผู้บริโภคสหรัฐฟ้องใช้ปลาป่นผสมอาหารกุ้งผลิตจากแรงงานทาสฉลุย หลังพัฒนานวัตกรรมปรับสูตรอาหาร-นำเข้าวัตถุดิบอาหารกุ้งจากโรงงานที่มีใบรับรอง นานเกือบ 4 ปี เชื่อไม่กระทบส่งออกกุ้งไปสหรัฐ

สืบเนื่องจากกรณีที่มีชาวแคลิฟอร์เนียเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทคอสโก (Costco Wholesale Corporations) ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ฟู้ดส์ พีซีแอล ในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เมื่อหลายปีก่อน ตามหมายเลขคดีดำ Case3 : 15-cv-03783-MEJ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2015 โดยมีการกล่าวหาว่า คอสโกซื้อกุ้งจากเครือซี.พี. ทั้งที่รู้ว่าสินค้านั้นได้มาจากการดำเนินงานของแรงงานทาส มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจและการประกอบอาชีพของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ตามมาตรา 17200 et seq, 17500 et seq และ 1750 et seq นั้น ล่าสุดคดีดังกล่าวยังไม่จบ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกรณีการฟ้องคอสโก (Costco) ซึ่งเป็นคู่ค้าที่นำเข้ากุ้งจาก ซี.พี. และ ซี.พี.ในฐานะผู้ผลิตกุ้ง เรื่องการใช้อาหารกุ้งที่มีส่วนผสมจากปลาป่นที่ผลิตมาจากการใช้แรงงานประมงที่ผิดกฎหมาย หรือการใช้แรงงานทาสนั้น ที่ผ่านมาเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลชั้นต้นให้ฝ่ายคอสโกและผู้ผลิตชนะเมื่อ 3-4 ปีก่อน แต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการอุทธรณ์

“ถ้าเราแพ้กุ้งที่ส่งเข้าสหรัฐอเมริกาจะมีปัญหา เราจึงต้องรณรงค์แก้ไขและดำเนินการต่อเนื่องมานานกว่า 3-4 ปีแล้ว ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าเรามีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เราไม่ได้ใช้ปลาป่นจากแรงงานประมงผิดกฎหมายมาผลิตอาหารกุ้ง”

นายศุภชัยกล่าวว่า ซี.พี.ได้พัฒนาเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) โดยการสร้างนวัตกรรมใหม่ และเริ่มให้มีการปรับสูตรอาหารกุ้งมานานกว่า 3-4 ปีแล้ว เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการปนเปื้อนปลาป่นที่ใช้แรงงานทาส ปรับมาเป็นให้นำเข้าเศษปลาจากโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน (certified) เท่านั้น ทั้งนี้ ในการผลิตอาหารกุ้งมีการใช้ปลาป่นเป็นส่วนผสมในการผลิตประมาณ 5% จากจำนวนส่วนผสมทั้งหมด

“เรื่องนี้เหมือนกับเรื่องที่สหภาพยุโรปมาตรวจสอบไทยเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยมองว่า หากประเทศไทยมีปัญหา สินค้าจากประเทศไทยก็มีปัญหา”

ต่อคำถามที่ว่า ประเด็นนี้ถือเป็นหนึ่งในการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTB) กับสินค้าไทยในอนาคต ซึ่งทางภาคเอกชนควรจะฝากประเด็นให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางไปสหรัฐในเดือนตุลาคม 2560 เพื่อหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์หรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยทั้งประเทศจะต้องมีการปรับตัว แต่ตอนนี้พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้านโยบายและการปฏิบัติอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาประมงทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาการจับปลาที่มากเกินไป และแก้ไขปัญหาแรงงานทาส ซึ่งรัฐบาลได้บังคับให้มีการจดทะเบียนแรงงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมประมง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก

รายงานข่าวจากกรมศุลกากร ระบุว่า การส่งออกกุ้งในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) 2560 มีมูลค่า 586.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.87% โดยตลาดสหรัฐยังเป็นตลาดส่งออกเบอร์ 1 สัดส่วน 34% มีมูลค่าการส่งออก 205.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อนึ่ง ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 หลังจากหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ซี.พี.มีการใช้แรงงานทาส และมีข่าวตามมาว่า มีซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหภาพยุโรประงับการซื้อกุ้งจากเครือ ซี.พี. ซึ่งครั้งนั้นเครือ ซี.พี.ได้ชี้แจงว่า เป็นเพียงผู้รับซื้อวัตถุดิบ และไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมงที่มีปัญหาแรงงาน พร้อมกับได้ทำหนังสือถึงผู้ผลิตปลาป่นไทย มีเงื่อนไขว่าต่อไปจะรับซื้อปลาป่นต่อเมื่อผู้ผลิตรายนั้น ๆ ต้องแสดงเอกสารที่ได้รับการตรวจสอบจาก “กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งแรงงานบนเรือประมง และแรงงานในโรงงานปลาป่น โดยผู้ขายปลาป่นต้องได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงาน มรท.8001-2553 รวมถึงต้องได้รับการรับรองระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผู้ผลิตปลาป่น ภายใต้ระเบียบ NON-IUU (NON-Illegal, Unreported and Unregulated) ของกรมประมง