อลหม่านประกันรายได้ยางพารา เจ้าของสวนดึงญาติสวมสิทธิ์รับเงินคนกรีด

แฟ้้มภาพ
อลหม่านประกันรายได้ยางพารา ปูดสวมสิทธิ์ลูกจ้างกรีด เข้าไม่ถึงโครงการ-ผู้เอกสารสิทธิถูกต้องไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับสิทธิ์อีกมาก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติดำเนินโครงการประกันรายได้ยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาง โดยกำหนดราคาประกันยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท, น้ำยางสด (DRC 100%) กก.ละ 57 บาท และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) กก.ละ 23 บาท ด้วยงบประมาณในโครงการรวม 24,278 ล้านบาท มีเป้าหมายว่าจะเริ่มจ่ายรอบแรก ในวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งยังไม่ทันได้เริ่มโครงการ ขณะนี้ราคายางในตลาดก็ปรับตัวลดลง โดยล่าสุดราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 35.70 บาท ต่ำกว่าราคาประกัน กก.ละ 24.30 บาท ราคาน้ำยางสดหน้าโรงงานอยู่ที่ กก.ละ 36.40 บาท ต่ำกว่าราคาประกัน กก.ละ 20.60 บาท ขณะที่ราคาส่งออกอยู่ที่ กก.ละ 44.25 บาท ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกยางในช่วง 3 ไตรมาสแรก ทำได้ 2.41 ล้านตัน ลดลง 8.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 3,220 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 98,210 ล้านบาท ลดลง 8.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เรืองยศ เพ็งสกุล
ล่าสุด นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) และกรรมการสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วคยถ.ได้รับร้องเรียนจากทั้งลูกจ้างกรีด และเจ้าของสวนยางจำนวนมากว่า ยังเข้าไม่ถึงโครงการประกันรายได้ เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นจำนวนมาก และมีการสวมสิทธิ์ทำให้คนกรีดยางรับจ้างไม่ได้รับสิทธิ์กว่า 10% แต่คนที่ไม่ได้กรีดยางกลับเป็นผู้มีสิทธิ์ โดยมีเจ้าของสวนยางที่แอบอ้างนำรายชื่อญาติ บุตรที่ไม่ได้กรีดยางเข้ามารับสิทธิ์แทน และยังมีชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะไม่มีความเข้าใจในการขึ้นทะเบียน จึงเสียโอกาสไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ

“เจ้าของสวนยางลงทะเบียนเป็นคนกรีดยางเอง โดยเฉพาะในส่วน 25 ไร่ เจ้าของสวนยางไม่สามารถกรีดได้หมด อย่างดีกรีดได้ประมาณ 15 ไร่ ถ้าบอกว่ากรีดเองทั้งหมด 25 ไร่ ถือว่าเท็จ ประเด็นนี้ทางรัฐบาล การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะต้องวางมาตรการเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายเรืองยศกล่าว

ทางด้านนายณรงศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนบน กล่าวในการสัมมนาจับตาวิกฤตยางพาราไทยว่า กลุ่มประเทศยุโรปจะประกาศมาตรฐานการจัดการสวนป่าที่ยั่งยืน หรือ Forest Stewardship Council (FSC) ใหม่ในปี 2563 ดังนั้น ไทยซึ่งมีสวนยางมากกว่า 20 ล้านไร่ ต้องเร่งจัดทำมาตรฐานของไทยที่อิงกับมาตรฐาน FSC และเร่งอบรมเจ้าหน้าที่ กยท.ในเรื่องนี้ให้มากที่สุด คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า จะสามารถรับรองสวนยางของไทยอิงมาตรฐาน FSC ได้ถึง 50% ของสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว หรือได้ประมาณ 10 ล้านไร่