อุตสาหกรรมเบเกอรี่-ขนมอบ-บะหมี่สำเร็จรูป-ปศุสัตว์ป่วนหนัก หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามนำเข้าอาหารที่มีวัตถุอันตรายที่ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ตกค้าง หวั่นเสียหายแสนล้าน กระทบเป็นลูกโซ่ ด้านสมาคมอาหารสัตว์ปูด “บราซิล” เตรียมใช้เวที WTO หารือไทย ข้องใจเหตุผลแบน 3 สาร แนะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่แก้มติหันไปใช้วิธีจำกัดการใช้ให้ทยอย “ลด-ละ-เลิก” แทน
การประกาศ “แบน” 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไกลโฟเซต” ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในแง่ของการหาสารเคมีทดแทนประเภทอื่นมาใช้เท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงการนำเข้าอาหารคนและอาหารสัตว์ที่มีการใช้ไกลโฟเซตตกค้างอยู่ในอาหารเหล่านั้นด้วย
สธ.ห้ามตกค้างในอาหาร
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานผลกระทบการแบนสารไกลโฟเซตของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ครอบคลุมไปถึงการนำเข้าสินค้าอาหารคนและอาหารสัตว์จากต่างประเทศด้วย โดยก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและการค้าสหรัฐทำหนังสือมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการแบนสารเคมีไกลโฟเซตพร้อมกับแสดงความกังวลว่า การค้ากากถั่วเหลือง-เมล็ดถั่วเหลือง-ข้าวสาลี-กาแฟ-แอปเปิล-องุ่นระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอาจจะ “หยุดชะงักลง” คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 1,700 ล้านเหรียญ โดยความเสียหายนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่อุตสาหกรรมอาหารประเภทขนมอบ-บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งใช้ข้าวสาลีนำเข้า 100% เป็นวัตถุดิบสำคัญที่มีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ความกังวลของสหรัฐเกิดจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 387 พ.ศ 2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ข้อ 4 อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศนี้ โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาให้ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562
นั่นหมายความว่า การเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นอกเหนือจากห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองแล้ว ตามนัยของประกาศกระทรวงสาธารณสุขข้างต้นยังห้ามไม่ให้มีการตกค้างของ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส อยู่ในอาหารโดยเด็ดขาด ส่งผลให้อาหารคนรวมไปถึงที่มีส่วนประกอบหรือส่วนผสมจากวัตถุดิบที่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 รายการไม่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศตามความกังวลของสหรัฐด้วย โดยล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง “ปฏิเสธ” ที่จะตอบคำถามดังกล่าวโดยอ้างว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมือง
เบเกอรี่ตื่น เสียหายใหญ่หลวง
อย่างไรก็ตาม “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการที่ทำเบเกอรี่หลายรายกล่าวตรงกันว่า ยังไม่ทราบการแบนไกลโฟเซตจะส่งผลไปถึงการห้ามนำเข้าข้าวสาลีสหรัฐ ซึ่งเป็นวัตถุสำคัญในการทำแป้งสาลีตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 387 พ.ศ. 2560 ซึ่งหากมีการห้ามนำเข้าจริงก็จะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารในวงกว้างและ “เราถือเป็นเรื่องใหญ่มาก” เนื่องจากธุรกิจอาหารในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้แป้งสาลีจากสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเบเกอรี่, เค้ก, ขนมปัง, พิซซ่า, ซาลาเปา, แพนเค้ก และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้แต่เพียงเรื่องการแบน 3 สารพิษ แต่ยังไม่รู้ว่ามีประกาศของ สธ.เรื่องห้ามนำเข้าอาหารที่อาจจะมีสารปนเปื้อนสารพิษดังกล่าวและไม่มีหน่วยราชการใดออกมาชี้แจงกรณีความกังวลของสหรัฐเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวสาลีด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
บราซิลจี้ไทยในเวที WTO
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแบนไกลโฟเซตที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกากถั่วเหลืองก็วุ่นวายไม่แพ้อาหารคน โดยนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งหาทางออกในการแก้ไขมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายสั่งให้แบน 3 สารเคมีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไกลโฟเซต” ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เนื่องจากทั้งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองต่างก็ต้องใช้ถั่วเหลือง-กากถั่วเหลือง-ข้าวสาลี จากสหรัฐเกือบทั้งหมด
การประกาศให้ 3 สารกำจัดวัชพืชเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายความว่า ห้ามไม่ให้มีการครอบครอง นำเข้า หรือส่งออกสินค้าที่มีสารกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ประเภทเป็นส่วนผสมเลย “หมายถึงว่าพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสจะต้องเป็น 0% จากเดิมที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้โดยยึดตามมาตรฐาน Codex ที่กำหนดไว้ว่า สามารถมีสารดังกล่าวผสมในสัดส่วนไม่เกิน 20 ppb ประเด็นนี้ทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าทั้งหมด (กากถั่วเหลือง-ถั่วเหลือง-ข้าวสาลี) ต้องยุติการสั่งซื้อ ไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ ดังนั้นทางสมาคมอยากทราบความชัดเจนจากรัฐบาล ว่าจะให้เราดำเนินการอย่างไร ก่อนที่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจะเกิดขึ้น” นายพรศิลป์กล่าว
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า ประเทศที่ส่งออกข้าวสาลี-กากถั่วเหลือง (บราซิล) ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแบน 3 สารกำจัดวัชพืชของประเทศไทย กำลังเคลื่อนไหวในองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอหารือในประเด็นนี้กับประเทศไทย โดยนายพรศิลป์กล่าวว่า ประเทศที่เดือดร้อนต้องการให้ฝ่ายไทยชี้แจงว่า มติการแบนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิสูจน์ด้วยหลักฐานอะไร หากไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้เท่ากับประเทศไทยไปกีดกันทางการค้า โดยประเทศที่เดือดร้อนไม่ใช่แค่บราซิลแต่ยังมีสหรัฐด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบถั่วเหลืองปีละ 5 ล้านตัน โดยมาจากบราซิลและสหรัฐอย่างละครึ่ง และทั้งสองประเทศนี้ยังมีการใช้ไกลโฟเซตอยู่ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำเข้าข้าวสาลีที่นำเข้ามาใช้ผลิตอาหาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งใช้ปีละ1 ล้านตัน จากแคนาดา ออสเตรเลีย และ ยูเครน ก็มีการใช้อยู่เช่นกัน โดยรวมแล้วมีผู้ใช้ไกลโฟเซตกว่า 161 ประเทศทั่วโลก
“รัฐบาลควรหันไปใช้มติเดิมที่กำหนดให้ทยอยลด ละ เลิก ให้เวลาในการศึกษาอบรม ทำความเข้าใจ และหาสารเคมีมาทดแทน เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ อุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่การผลิตจะได้รับความเสียหาย ทั้งตัวเกษตรกรและการจ้างงานพูดง่าย ๆ ก็คือเจ๊งหมด” นายพรศิลป์กล่าว