นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแบน 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 นี้ จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือ ปริมาณน้ำตาลทรายดิบจะหายไปประมาณ 6.7 ล้านตันต่อปี คิดเป็นรายได้ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกากน้ำตาลจะหายไป 3.3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ 1 หมื่นล้านบาท สร้างความเสียหายต่อการผลิตเอทานอลประมาณ 8.4 ร้อยล้านลิตร คิดเป็นรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท
โดยจะขอให้รัฐชะลอผลของมติออกไปอีกอย่างน้อย 3 – 5 ปี หลังจากนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัว ทยอยลดสัดส่วนการใช้สาร ควบคู่กับการหาสารทดแทน และให้ความรู้แก่เกษตรกร พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องรับบทบาทหลักในการดูแลเรื่องดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจเสียงกระทบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในระดับเล็กถึงกลางซึ่งมีอยู่ราว 85% ของจำนวนผู้ผลิตทั้งหมดในประเทศ
อาจต้องเลิกปลูกอ้อย ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตไบโอพลาสติกซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบด้วย โดยหลังการหารือในวันนี้จะทำหนังสือเป็นข้อเสนอแนะเสนอไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา
เพราะกากชานอ้อย วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็จะหายไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตันเช่นกัน สูญรายได้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 67.4 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทั้งปีจาก 2 เขื่อนใหญ่ ทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นรายได้ที่หายไป อัตรา 2.7 บาทต่อหน่วย ประมาณ 182 ล้านบาท รวมภาคอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่องสูญเสียทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท
“จากการคาดการณ์ ผลผลิตจะลดลง 20%-50% ถ้าไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท และยังส่วนใบและยอด ซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านบาท”
และยังกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออก คิดเป็น 75% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้ในประเทศ ปริมาณส่งออกประมาณ 10-11 ล้านตันต่อปี เหตุที่ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดี เพราะต้นทุนอ้อยในการผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเรื่องระยะทางและต้นทุนขนส่งต่ำกว่า แต่ ปัจจุบัน เกิดวิกฤตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมาก ทำให้ภาครัฐต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต
ศาสตราจารย์ ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ทั้งด้านการตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งมีชีวิตในดินและน้ำ หรือสิ่งทดแทนพาราควอต ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ล้วนไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ ทั้งการใช้แรงงานคน การใช้เครื่องจักร ไม่สามารถใช้ในพื้นที่โคนต้น เนิน ดินแฉะ หรือพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องจักร หรือการเสนอสารทดแทน 16 ชนิด ทั้งหมดไม่สามารถนำมาเป็นทางเลือกหรือทดแทนพาราควอตได้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ยืนยันประเด็นด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับพาราควอตว่า โรคเนื้อเน่าไม่เกี่ยวข้องกับพาราควอต แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอด และเลือดสายสะดือทารก ขาดข้อมูลที่ชัดเจน รายงานจาก สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (US EPA) ยังระบุว่าพาราควอตไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน