หวั่นขัดแย้งตะวันออกกลางลาม ดับฝันตลาดส่งออก “อิรัก”

Photo by HAIDAR MOHAMMED ALI / AFP

ทูตพาณิชย์ดูไบชี้สถานการณ์อิหร่านรุนแรง หวั่นเสียโอกาสตลาด 2.5 หมื่นล้านเหรียญ ไทยตั้งรับวิกฤตน้ำมันทะลุ 80 เหรียญ/บาร์เรล “สนธิรัตน์” จ่อดึงเงินกองทุนฯ 3.7 หมื่นล้าน อุ้ม B 10 ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร สภาผู้ส่งออกชี้กระทบต้นทุนประกันภัย-ค่าเฟด ส่งออกเสี่ยงลบ 5% บิ๊กป้อมสั่งคุมเข้มสถานทูต

นายปณต บุณยะโหตระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินสถานการณ์ในตะวันออกกลาง หลังเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านว่า รุนแรงกว่าเหตุการณ์โดรนถล่มโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบียช่วงปลายปี 2562 นับสิบเท่า เพราะครั้งนี้ผลกระทบไม่เพียงแค่อิหร่าน แต่รวมถึงประเทศพันธมิตรที่สนับสนุนอิหร่าน ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งเศรษฐกิจโลก ในส่วนของไทยได้ประกาศแจ้งเตือนการเดินทางโดยห้ามเดินทางมายังอิรักแล้ว ส่วนประเทศอื่นในตะวันออกกลางยังเดินทางได้

หวั่นต้นทุนขนส่ง-ประกันภัยพุ่ง

ขณะนี้สำนักงานอยู่ระหว่างเตรียมประเมินและรายงานสถานการณ์ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2563 ต่อที่ประชุมมอบนโยบายทูตพาณิชย์เดือน ก.พ.นี้ จะมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เบื้องต้นระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในกลุ่มประเทศตะวันออกลาง แต่จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งโลจิสติกส์ปรับสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีต้นทุนค่าประกันภัย โดยเฉพาะประกันภัยการส่งออกทางเครื่องบิน

“ปีนี้น่าเสียดายที่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะคาดว่าจีดีพีจะดีขึ้น 2.5-3.0% จากที่จะมีงานดูไบเอ็กซ์โป 2020 เป็นเวลา 6 เดือน และเราวางแผนจะรุกตลาดอิรักซึ่งมีศักยภาพสูง จำนวนประชากรมาก และมีกำลังซื้อ เพราะถือเป็นตลาดที่ขยายตัวสูงสุดหากเทียบกับ 15 ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 การส่งออกสินค้าไทยไปอิรักขยายตัว 68% จากที่หดตัวต่อเนื่องมา 2 ปี แม้มูลค่าการส่งออกยังไม่มาก แต่ยังมีโอกาสขยายตัว ส่วนอิหร่านนอกจากปัญหาด้านการเมืองขณะนี้ ยังมีปัญหาค่าเงินตก ส่งผลให้สินค้านำเข้าราคาสูง”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ช่วง 11 เดือนแรกปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าไทย-กลุ่มตะวันออกกลาง 15 ประเทศ 25,682.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.13% คิดเป็นสัดส่วน 5.77% ของยอดส่งออกทั้งหมด โดยไทยส่งออก 7,648.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.91% นำเข้า 22,279.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.06% ตลาดอันดับ 1 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มูลค่า 9,029 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญมี น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

Photo by HAIDAR MOHAMMED ALI / AFP

ดึงกองทุนอุ้มราคาน้ำมัน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 10 ม.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น 4% หรือเป็น 69 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดูแลและบริหารจัดการได้ เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯมีเงินประมาณ 37,000 ล้านบาท ยังพอเข้ามาช่วยเหลือได้ แต่หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นถึง 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต้องเตรียมหามาตรการเข้ามาดูแล จะขอความร่วมมือกับโรงกลั่นน้ำมันให้หาทางออกด้านเทคนิค เพื่อใช้น้ำมันดิบในประเทศทั้งหมด”

ยันไม่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน-ก๊าซ

ขณะที่การบริหารจัดการด้านปริมาณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอาจขอความร่วมมืองดส่งออกน้ำมันดิบ เพื่อเพิ่มปริมาณสต๊อกน้ำมัน 25,000 บาร์เรล/วัน จากกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ผลิตได้ 1.3 แสนบาร์เรล/วัน หากมีเหตุฉุกเฉิน สามารถเพิ่มการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้นอีก 36,000 บาร์เรล/วัน

ขณะที่กลุ่ม ปตท.ปรับลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางที่เคยอยู่ในระดับ 74% ลงมาอยู่ 50% ขณะที่สต๊อกน้ำมันสำรอง ณ 5 ม.ค. 2563 มีสำรองน้ำมันดิบ 2,988 ล้านลิตร อยู่ระหว่างขนส่ง 1,144 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,468 ล้านลิตร รวมปริมาณสำรองน้ำมันทั้งหมดเพียงพอใช้ 50 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ทั้งหมด 101 ล้านกิโลกรัม เพียงพอใช้ในภาคครัวเรือน 17 วัน

อุ้ม B10 ไม่เกิน 30 บาท

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.จะประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ใกล้ชิด ก่อนประชุม กบน. 10 ม.ค.นี้ หากพบว่าสถานการณ์บานปลาย หรือราคาน้ำมันดิบปรับสูงเกินกว่า 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใน 1 สัปดาห์ จะใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแล ไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล B10 เกิน 30 บาท/ลิตร ปัจจุบันราคาบี 10 อยู่ที่ 25.39 บาท/ลิตร

บางจากสต๊อกน้ำมัน 20 วัน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่อง geopolitic ยังประเมินได้ยาก ต้องใช้เวลาอีก 1-2 สัปดาห์ จะเห็นภาพดีกรีความรุนแรงว่าจะเป็นอย่างไร ความขัดแย้งจะมีทางออกเร็วแค่ไหน หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น แต่หากหาข้อสรุป หาจุดประนีประนอมได้ในระยะเวลาสั้นจะไม่กระทบราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประสานงานกับภาครัฐใกล้ชิด และเตรียมสต๊อกน้ำมันตามกฎหมายกำหนด 6% หรือเพียงพอต่อการใช้ 22 วัน

“แต่หากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซจะกระทบเส้นทางการขนส่งน้ำมัน 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 4 ของโลก”

เดินเรือ-ประกันภัยส่งออกพุ่ง

ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) เปิดเผยว่า ต้องรอประเมินสถานการณ์อีก 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีการตอบโต้กันและสหรัฐใช้มาตรการใน 52 จุด หรือนำไปสู่การปิดช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางขนส่งน้ำมันร้อยละ 20-30 จะกระทบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ในส่วนของการส่งออกของไทยที่ผ่านเส้นทางช่องแคบฮอร์มุซ มีเฉพาะเรือที่ส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางโดยตรง ซึ่งตลาดกลุ่มนี้มีหลายประเทศ เช่น กาตาร์ UAE ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อิหร่าน สัดส่วน 5-6% ของตลาดส่งออกรวม มีโอกาสที่อัตราค่าขนส่ง (เฟด) ค่าประกันภัยจะสูงขึ้น ขณะที่เรือขนส่งสินค้าไปตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐ ที่เคยจอดพักที่ UAE อาจเลี่ยงเส้นทางอ้อมไปได้ จะไม่กระทบการขนส่งทางเรือ แต่จะกระทบในแง่ค่าประกันภัยสินค้าสัดส่วน 1% ของต้นทุนทั้งหมด

คาดยอดส่งออกติดลบ 5%

ด้านนางสาวกัญญาภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออก มองว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งดังกล่าว และจะมีผลต่อต้นทุนวัตถุดิบ สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเลียม รวมถึงต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เห็นได้จากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นถึง 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบระยะยาวได้ และเชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศจะยังไม่ใช้ความรุนแรง

“ส่วนยอดส่งออกปี 2563 สภาผู้ส่งออกคาดการณ์การขยายตัว 0-1% มูลค่า 245,296 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทที่ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยค่าเงินบาทยังเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกกังวล เพราะหากค่าบาทต่ำถึง 28.5 บาท/เหรียญสหรัฐ โอกาสการส่งออกไทยทั้งปี 2563 เสี่ยงติดลบ 5%”

สั่งกองทัพประเมินสหรัฐ-อิหร่าน

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เตรียมป้องกันติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน โดยให้เหล่าทัพ กระทรวงการต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบอะไรกับไทยบ้าง เตรียมรักษาความปลอดภัยบ้านเอกอัครราชทูต สถานทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานทูตสหรัฐ อิหร่าน อิสราเอล