ส่งออก 7 หมื่นรายการวุ่น! กฎใหม่คุมสินค้าที่อาจใช้ผลิตอาวุธอานุภาพร้ายแรง

ไทยออกประกาศสินค้า 2 ทาง Dual Use Items คุมเข้มสินค้า-อุปกรณ์ที่อาจใช้ผลิตอาวุธทำลายล้างอานุภาพร้ายแรง 71,632 รายการ ตั้งแต่เครื่องยิงแสงเลเซอร์-ยาแนวพื้นห้องน้ำ ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ หวั่นกระทบส่งออก 2 ล้านล้าน เอกชนโวย “เป็นเรื่องใหม่” มีประกาศแค่ 2 แผ่นอีก 6 เดือนบังคับใช้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2561 จะมีประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (Dual Use Items : DUI) ออกมาบังคับใช้

โดยประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้สินค้า 73,583 รายการ ครอบคลุมสินค้าที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออก เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและปฏิบัติตาม มาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558

สินค้าจำนวนมากมายภายใต้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ อาจเรียกง่าย ๆ ว่า “สินค้า DUI” ผู้ผลิตส่งออกจะต้องยื่นขออนุญาตส่งออกกับกรมการค้าต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าและวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ “อาจจะ” นำไปใช้ในการผลิต/ประกอบ/เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำไปใช้ทำอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction หรือ WMD) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการ “ควบคุมสินค้าที่นำไปใช้ได้ 2 ทาง” ซึ่งเป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ผูกพันไว้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council) ในข้อมติ UNSCR ระบุให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการในการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)

ทั้งนี้สินค้าที่เข้าข่าย DUI มีจำนวน/มูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีจำนวน 73,583 รายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 71,632 รายการ ยกตัวอย่าง เครื่องเลเซอร์ผิวหน้า สามารถนำไปพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์/อาวุธชีวภาพได้, ยาชา มีสารบางอย่างสามารถนำไปเป็นอาวุธชีวภาพ, หัวเหล็กไม้กอล์ฟ สามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนขีปนาวุธ ไปจนกระทั่งถึงไส้ดินสอดำ-เส้นเอ็นที่ใช้ในไม้เทนนิส โดยการส่งออกสินค้า DUI ในปี 2559 คิดเป็นมูลค่า 2.26 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 2.25 ล้านล้านบาท ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกสินค้ามากกว่า13,566 ราย ซึ่งยัง “สับสน” และ “ไม่เข้าใจ”วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในประกาศฉบับนี้

คต.เตรียมการมา 3 ปี

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงกลาโหม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถปฏิบัติตามประกาศฯ เชื่อว่าจะไม่สร้างภาระต้นทุนให้เอกชน

ขณะที่นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า ผู้ส่งออกที่ยังไม่มั่นใจว่า สินค้าที่ตนเองส่งออกนั้น เป็นชิ้นส่วนที่จะสามารถนำไปผลิตอาวุธร้ายแรงได้หรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบคัดกรองสินค้าที่ส่งออกเข้าข่ายเป็นสินค้า DUI ตามบัญชีรายชื่อการสินค้า DUI ของไทย (Thai List) ผ่านระบบ e-TCWMD

ทั้งนี้หากตรวจสอบพบว่า สินค้าส่งออกดังกล่าวเป็นสินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้า DUI ตามบัญชีแนบท้าย 1 ซึ่งมีประมาณ 1,200 รายการ ผู้ส่งออกต้องยื่นขออนุญาตส่งออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Licensing) แต่ในกรณีที่สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าไม่ได้เป็น DUI ตรวจสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ถึงพิกัดศุลกากร 6-8 หลัก ปรากฏว่าไม่ใช่สินค้าในกลุ่ม DUI ซึ่งอยู่ในบัญชีแนบท้าย 2 มีประมาณ 600 รายการ ผู้ส่งออกสามารถออก e-Certification และดำเนินการส่งออกได้เลย

อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ถือเป็นมาตรการชั่วคราว ก่อนที่ออกร่าง พ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือร่าง พ.ร.บ. TCWMD จะออกมาบังคับใช้ ซึ่งล่าสุดร่าง พ.ร.บ.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา

“การคัดกรองสินค้าก่อนการส่งออกเป็นส่วนสำคัญ หากไทยยกร่างกฎหมายสำเร็จ เราก็จะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีระบบการตรวจสอบและรับรองการส่งออกสินค้าที่สามารถใช้ได้ 2 ทางแล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าสินค้าจากไทย แต่หากไทยไม่มีระบบตรวจสอบนี้ประเทศผู้นำเข้าอาจจะสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าจากไทยได้” นายอดุลย์กล่าว

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้อ้างว่าได้เตรียมความพร้อมโดยให้ความรู้ผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีนับจากปี 2557 และในวันที่ 18-19 กรกฎาคมนี้ กรมฯเตรียมจัดประชุมนานาชาติ โครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือโลกว่าด้วยการบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง 2017 ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย

ผู้ส่งออกเพิ่งรู้เรื่อง DUI

นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการกลุ่มการค้าระหว่างประเทศสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้แจ้งกับสมาชิกเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยแต่ละบริษัทจะต้องตรวจสอบสินค้าส่งออกของตัวเองว่า เข้าข่ายเป็นสินค้า DUI หรือไม่ และจะต้องขึ้นทะเบียนรับรองตนเอง เนื่องจากประเทศคู่ค้าตลาดส่งออกอย่างสหรัฐ-สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยในด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ส่งออกจะมีมากเพียงใดต้องรอดูว่า หลังจากนี้มีการขึ้นทะเบียนมากน้อยเพียงใด

“ในส่วนของบริษัท SCG ได้ตรวจสอบรายการสินค้า DUI และเตรียมขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า ประกาศDUI ได้ครอบคลุมสินค้าในหมวดวัสดุก่อสร้างหลายรายการ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายสินค้าเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้คาดคิดว่า มันจะเป็นสินค้า DUI มาก่อน เช่น วัสดุยาแนว ซึ่งทางบริษัทได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนแล้ว”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกเตรียมแจ้งสมาชิกให้รับทราบถึงรายละเอียดและแนวทางการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ เพราะ “เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่” สำหรับผู้ส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหารจะต้องศึกษาและดูรายละเอียดว่า เกี่ยวข้องกับตนหรือไม่ หรือมีส่วนประกอบอะไรที่เป็นการเสี่ยงต่อภัยอันตรายหรือไม่

ขณะที่นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวได้มีการพูดถึงมาระยะหนึ่ง “แต่เราเพิ่งได้รับทราบรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง” สมาชิกส่วนใหญ่ก็ไม่ถึงกับกังวลมากนัก เพราะสินค้าอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์มีกระบวนการผลิต การตรวจสอบ รวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ สายทองแดง หรือแร่บางชนิด มีขั้นตอนที่ถูกต้อง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองและตรวจสอบได้มาตรฐานความปลอดภัย (มอก.) แล้ว

“เรากลับมีความกังวลในสินค้ากลุ่ม Internet of Thing (IoT) เพราะเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้คำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ต สินค้ากลุ่มนี้แม้ไม่แยกส่วนประกอบออกมาแต่กลับใช้เป็นคำสั่งในการทำให้สินค้าเป็นอาวุธได้ เช่น จุดฉนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น” นายวิษณุกล่า