“ซัสโก้” ลุยขยายปั๊ม-บริการ หมดหนี้เงินกู้ซื้อ “ปิโตรนาส”

“ซัสโก้” ปลดหนี้เงินกู้ซื้อปิโตรนาสแล้ว เตรียมลุยขยายรีเทลน้ำมัน ตั้งเป้า3 ปี ดันยอดเพิ่มเท่าตัว พร้อมรีโนเวตปั๊มดึง “สตาร์บัคส์” แม็กเนตดูดลูกค้า

นายพงศธร ฉัตรนะรัชต์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2563 จะเป็นปีแรกที่ซัสโก้วางแผนพัฒนาธุรกิจNext Chapter หลังจากบริษัทได้ชำระเงินกู้ซื้อบริษัทปิโตรนาสครบ 7 ปี เมื่อปี 2562ที่ผ่านมา บริษัทจึงมีนโยบายลงทุนพัฒนาธุรกิจในกลุ่มน้ำมันโดยเฉพาะค้าปลีกน้ำมัน(รีเทล) และรักษาเสถียรภาพการเติบโตในกลุ่มน้ำมันเครื่องบินและธุรกิจส่งออกน้ำมัน โดยคาดการณ์แนวโน้มปีนี้จะขยายตัว 8-10% จากปี 2562 ซึ่งในช่วง3 ไตรมาสแรกปี 2562 ขยายตัว 8-9% ถือเป็นระดับนิวไฮ

สำหรับแผนการขยายธุรกิจรีเทลมีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมันปีนี้เพิ่ม 25 แห่ง เป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 75 แห่งทำให้ภาพรวมจะมีสถานีบริการเพิ่มเป็น 300 กว่าแห่ง โดยงบประมาณลงทุนที่วางไว้ 500-700 ล้านบาท หรือสาขาละ 30-40 ล้านบาท เป้าหมายทำให้รายได้ในส่วนของรีเทลเพิ่มขึ้นเป็นดับเบิลใน 3 ปี โดยจะมุ่งกระจายสถานีบริการออกไปยังหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างกลุ่มอีอีซี และเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต สมุย กระบี่ ส่วนรูปแบบการลงทุนยังเน้นลงทุนโดยบริษัทเอง สัดส่วน 90% ส่วนการลงทุนโดยดีลเลอร์มีประมาณ 10% รักษามาตรฐานการให้บริการ เน้นดูแลด้านความสะอาดและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

“ปัจจัยบวกตอนนี้กลุ่มธุรกิจปั๊มหาที่ดินได้ง่ายขึ้น ผลจากกฎหมายที่ดินและมรดกกระทบอสังหาฯไม่ซื้อที่ดินเก็บ ซึ่งที่ดินที่ 2 ธุรกิจนี้ใช้เป็นไซซ์เดียวกัน 1-4 ไร่พอกัน ไม่มีการซื้อแลนด์แบงก์เป็นโอกาสให้ที่ดินหลุดมาที่เรา ทำให้ได้แปลงใหม่ ๆ หลายแปลง เป็นไปได้ที่การขยายสถานีอาจจะเกิน 75 ปั๊ม ก่อน 3 ปีก็ได้”

พร้อมกันนี้มีแผนจะรีโนเวตปั๊มใหม่ทั้งหมดในกรุงเทพฯและปริมณฑล และจะดึงร้านสะดวกซื้อลอว์สันเป็นแม็กเนต โดยบริษัทลงทุนเพื่อขยายสาขาให้กับลอว์สัน 30 สาขา จากทั้งหมดที่มี 100 สาขา และถ้าลอว์สันจะขยายไปกับซัสโก้ ไม่ต้องห่วงเรื่องที่หรือเงินลงทุน เราช่วยขยายให้เพื่อให้เติบโตไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกันเราเพิ่มบริการร้านกาแฟ อย่างน้อยปั๊มละแบรนด์ โดยขณะนี้มีการดึงร้านสตาร์บัคส์เข้ามาร่วม นำร่องที่สาขาราชพฤกษ์ ทำให้สถานีบริการใหม่จะมีลอว์สัน สตาร์บัคส์ เคเอฟซี เป็น 3 ร้านหลัก หรือบางจุดอาจจะมี sub way และคาร์แคร์ เป็นต้น

สำหรับรูปโฉมของสถานีบริการใหม่ที่กำลังจะสร้าง เน้น “ออร์เบิร์นอาร์คิเทกต์”เพื่อสร้างเป็นคอมโมดิตี้ให้สอดรับกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น เช่น เปิดแถวหลานหลวงหรือไปอยู่เยาวราช จะสร้างเป็นโอลด์ทาวน์ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ บริษัทได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานจัดจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 ทุกสถานีบริการ และกำลังจะเริ่มจำหนาย B10 เป็นน้ำมันพื้นฐานตามนโยบายของกระทรวงเช่นกัน ส่วนแนวโน้มธุรกิจอีก 2 ด้าน คือ น้ำมันเครื่องบิน (เจ็ต) และธุรกิจส่งออก ปีนี้ยังไปได้ดี แม้ว่ามีปัญหาเรื่องความตึงเครียดในอิหร่านแต่ก็เป็นระยะสั้น ส่วนการเติบโตในกลุ่มน้ำมันเจ็ตขายให้กลุ่มลูกค้าไลออนแอร์ แอร์เอเซียบางกอกแอร์เวย์ส การบินไทย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการขยายตัวตามนักท่องเที่ยวและจำนวนสายการบิน หากอีก 2-3 ปี มีการขยายสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ หรืออู่ตะเภา ก็จะส่งผลดีต่อความต้องการน้ำมันเจ็ตให้ดีขึ้น ถือว่าเป็นธุรกิจที่เสถียร คิดว่าจะรักษามาร์เก็ตแชร์ได้ เช่นเดียวกับการส่งออกรอบ ๆ บ้านก็ยังโตพอสมควร

“การระบาดของไวรัสโคโรน่าขณะนี้มีการยกเลิกเที่ยวบินจากจีนเพียง บางเที่ยวบินเท่านั้น ยังไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด สถานการณ์การระบาดยังไม่รุนแรงเท่าโรคซาร์ส หรือโรคเมอร์ส แต่มีลักษณะเหมือนกับไข้หวัด ดังนั้นยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการประเมินผลกระทบว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้หรือไม่ หากสามารถควบคุมได้ก็จะไม่กระทบ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเจ็ตในไทยมีอยู่ 5 ราย คือ ปตท. บางจาก เอสโซ่ เชลล์ และซัสโก้ และธุรกิจส่งออก ก็มีการเติบโตเช่นกัน เนื่องจากไทยอยู่ตรงกลางของภูมิภาคขายให้เมียนมา กัมพูชา ลาว และจีนตอนใต้

นายพงศธรกล่าวว่า ภาพรวมรายได้ซัสโก้โตต่อเนื่องนับจากการซื้อปิโตรนาสและในปี 2562 ถือเป็นปีที่ซัสโก้ทำนิวไฮทั้งวอลุ่ม และเรเวนิล อย่างไรก็ตามด้วยอัตราส่วนมาร์เก็ตแชร์ที่ยังห่างกันมากจึงอาจจะยังไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง แต่ next chapter ตอนนี้บริษัทไม่มีปัญหาเรื่องจะต้องจ่ายชำระเงินกู้แล้ว จึงสามารถวางแผนการลงทุนทุกอย่างดีขึ้น

“วันนี้ซัสโก้มองภาพในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะเติบโตแบบดับเบิลด้วยการขยายภายในแต่สถานการณ์ประเทศตอนนี้ทำให้ต้องตัดสินใจรอบคอบจากการขยายตัวเศรษฐกิจกระจุกตัว อาจจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อกลุ่มธุรกิจกังวล”

สำหรับโอกาสการขยายการลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ มองไว้หลายด้านทั้งรถยนต์ไฟฟ้าอีวี เรามี 40-50 แห่ง อนาคตยังมีแผนขยายสาขาเพิ่ม ซึ่งจะต้องพิจารณาจากความตามการใช้งาน พฤติกรรมผู้ใช้เพราะนิยมชาร์จที่บ้านหรือที่ทำงานหรือไม่ เพื่อปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมเช่น อาจจะเน้นงานด้านบริการขายอาหาร เครื่องดื่ม หรือบริการเช่าที่จอดรถ อย่างไรก็ตาม อีก 7-10 ปีเชื่อว่าสถานีบริการยังเป็นที่ต้องการอยู่