กฟผ. โชว์พลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต FEA2020 เล็งขยายเชื่อมระบบไฟฟ้าเมียนมาร์ กัมพูชา สิงคโปร์

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายหลัง งานแสดงนิทรรศการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานในงาน Future Energy Asia 2020 (FEA2020) ว่า ขณะนี้เทรนด์ของพลังงาน ต้องมีการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศอย่างมีศักยภาพ ประกอบด้วย ต้องเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด อาทิ น้ำ แสงอาทิตย์ และลม ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าไปยังแหล่งที่มีความต้องการใช้ ซึ่งตอบโจทย์ความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ราคาเหมาะสม และความยั่งยืน

ล่าสุด กฟผ. สามารถดำเนินการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศลาว และมาเลเซียได้สำเร็จ และในอนาคตยังมีแผนเชื่อมโยงไปยังประเทศพม่า กัมพูชา และสิงคโปร์ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค สนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และแบ่งปันแหล่งพลังงานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการช่วยให้ภาคพลังงานของอาเซียนมีความยืดหยุ่นในการแบ่งปันการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่มีแนวโน้มปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

“ถึงเวลาที่ต้องเปิดใจให้กว้างและเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ ความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ”

ทั้งนี้ Future Energy Asia 2020 เป็นงานนิทรรศการและการประชุมระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลาง สำหรับผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชีย ได้พบปะหารือเชิงนโยบาย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล ปีนี้ กฟผ. ได้นำนิทรรศการภายใต้แนวคิด Innovate power solution for a better life ร่วมจัดแสดง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตามวิสัยทัศน์ของ กฟผ. ซึ่งงานได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์การประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร

วันเดียวกัน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เป็นแนวทางขับเคลื่อนที่สำคัญ ให้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้ามีการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานในการประหยัดพลังงาน ควบคู่ไปกับกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงพลังงาน โดยมีการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงใน 19 ผลิตภัณฑ์ รวม 5.3 ล้านใบ ครอบคลุมในอุปกรณ์ที่ใช้งานกลุ่มต่างๆ ทั้งในบ้านอยู่อาศัย โรงงาน อาคาร รวมถึงอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งโครงการนี้สร้างผลประหยัดพลังงานสูงกว่า 135 พันตันน้ำมันดิบ(Ktoe)ต่อปี คิดเป็นมูลค่าผลประหยัดกว่า 4,360 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.65 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ อนาคตมุ่งเน้นภาคขนส่ง และภาคเกษตร อาทิ ยางรถยนต์ เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภัณฑ์ติดฉลากน้อย ต่อไปเราคงเห็นผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้การติดฉลากเป็นไปอย่างแพร่หลายในอนาคต