‘พาณิชย์’ แจงภาคสังคม ปมเข้า CPTPP ศึกษารอบด้าน

พาณิชย์ แจงภาคสังคม ปมเข้า CPTPP ศึกษารอบด้าน มั่นใจ ไทยใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ‘CL’ ได้ – ไม่ผูกขาดพันธุ์พืช ยกเว้นเกษตรกรเก็บเมล็ดใช้เอง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคมที่มีต่อการที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งทีมเจรจา ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมทีมเจรจาต่อรอง พร้อมร่วมกับกำหนดเงื่อนไข ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และระยะเวลาการปรับตัว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบประชาชน ภาคสังคม และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP

ส่วนข้อกังวล หลังเข้าเป็นสมาชิก เช่น การเปิดตลาด ในข้อตกลงปัจจุบันเปิดโอกาสให้สมาชิกปรับตัว เวียดนาม ขอเวลาปรับตัวนานถึง 21 ปีสำหรับกลุ่มสินค้าที่จะลดภาษีเป็น 0% และยังมีสินค้าบางกลุ่มที่ขอสงวนไว้ไม่ต้องลภาษีนำเข้าอีก ส่วนข้อกังวลเรื่องที่ไทยจะขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา คุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันแล้วว่า ในความตกลงดังกล่าว ได้ถอนเรื่องดังกล่าวออกไปแล้วตั้งแต่ที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก ดังนั้น หากไทยเข้าเป็นสมาชิก ก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมในเรื่องนี้

ส่วนข้อกังวลที่ไทยจะไม่สามารถบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาราคาถูกได้นั้น ในความตกลง ยังยืนยันให้สิทธิของสมาชิกในการใช้มาตรการซีแอล ขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ได้อยู่ จึงไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนแน่นอน ในข้อกังวลดังกล่าวจึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนการ กำหนดให้สมาชิกต้องเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ 1991 (ยูพอฟ 1991) และภาคประชาสังคมกังวลว่า อาจทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพื่อการเพาะปลูกได้นั้น เรื่องนี้ ไม่ต้องกังวล เพราะยูพอฟ 1991 ได้ให้ทางเลือกสมาชิก สามารถออกกฎหมายภายในเพื่อการยกเว้นให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่ของตนได้ หรือหากจำทำการซื้อขายก็สามารถขออนุญาตเจ้าของสิทธิ์ได้เช่นกัน

ขณะที่ข้อกังวลเรื่องการจัดจ้างโดยรัฐ ที่กำหนดให้สมาชิกต้องเปิดให้นักลงทุนจากสมาชิกเข้ามาประมูลงานของภาครัฐได้นั้น ความตกลงได้เปิดช่องให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐได้ โดยหากมูลค่าขั้นต่ำต่ำว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และมีระยะเวลาการปรับตัวในการดำเนินการตามความตกลงในเรื่องนี้

นางอรมน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างเตรียมรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งข้อดี ข้อเสียของการเข้าร่วม รวมถึงผลการศึกษา และผลการลงพื้นที่รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนเม.ย.นี้ ถ้าครม.เห็นชอบ กระทรวงการต่างประเทศ จะทำหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าร่วมส่งไปให้ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศที่ได้รับมอบมายให้เป็นผู้รักษาความตกลง เพื่อเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีสมาชิกซีพีทีพีพี ในเดือนส.ค.นี้ พิจารณา

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดยังเป็นเพียงแค่การเคาะประตูเข้าร่วมเป็นสมาชิก ถ้าครม.เห็นชอบให้เข้าร่วมได้ ก็จะตั้งทีมเจรจา ที่มาจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทีมเจรจาจะเจรจา ต่อรอง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยจะรับฟังข้อกังวลของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถ้าเจรจาแล้ว เห็นว่า ไทยรับข้อตกลงไม่ได้ หรือเห็นว่าจะมีผลกระทบมากกว่าได้ ก็อาจไม่เข้าร่วมก็ได้ โดยทีมเจรจาจะต้องนำผลการเจรจา มาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนให้สัตยาบัน ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะเข้าร่วมแล้ว จะต้องปฏิบัติตามความตกลงทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของทีมเจรจา

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยายตัว 0.12% มูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% มูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออกขยายตัว 3.47% มูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท รวมทั้ง ไทยจะส่งออกสินค้าหลายรายการได้เพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิกต้องเปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติม เช่น ไก่แปรรูป น้ำตาล ข้าว อาหารทะเล ผลไม้สด/แห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า หากไทยไม่เข้าร่วม จะเกิดค่าเสียโอกาสจากการเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและของโลก โดยจีดีพี จะลดลง 0.25% มูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนลดลง 0.49% มูลค่า 14,270 ล้านบาท การส่งออกลดลง 0.19% มูลค่า 14,560 ล้านบาท และผลตอบแทนแรงงานลดลง 8,440 ล้านบาท