ชาญศิลป์ มอง “เศรษฐกิจเปราะบาง” ปตท.ประคองแผนลงทุน 1.8 แสนล้าน

Photographer: Nicolas Axelrod/Bloomberg via Getty Images

ภาวะเศรษฐกิจทุกเซ็กเมนต์ในปีนี้ “เปราะบาง” ที่สุดในรอบทศวรรษ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจพลังงาน ซึ่งนับเป็นความท้าทายของ ปตท. “นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2563 ว่าต้องฝ่าด่านมรสุมปัจจัยภายในและภายนอกนำไปสู่การทบทวนแผนลงทุน 5 ปี 1.8 แสนล้านบาท โดยให้คงเป้าเดิม แต่เพิ่มความเข้มข้นความมั่นคงพลังงานอนาคต

ทิ้งทวนผลงานฝ่าพิษ เศรษฐกิจโลก

นายชาญศิลป์มองว่า เศรษฐกิจปีนี้ค่อนข้าง “เปราะบาง” ท่ามกลางความเสี่ยงหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก ทั้งเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายต่ำกว่าเป้า 6% จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในไตรมาส 1-2 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทั้งยังมีปัจจัยภัยแล้งและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าอาจส่งผลต่อการลงทุนภาครัฐ ซึ่งอาจจะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 2% จากปีที่ผ่านมา 2.4%

ทิศทางราคาพลังงานปีนี้ คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะดีขึ้น เพราะยังคงมีปริมาณผลิตใหม่ทยอยออกสู่ตลาดโลก ส่วนราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน และความต้องการใช้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ จึงคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีก่อนที่ 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

คงเป้าลงทุน 5 ปีเน้นมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ปตท.ได้เตรียมแผนการลงทุน 5 ปี (2563-2567) วงเงินรวม 180,814 ล้านบาท พร้อมทั้งจัดเตรียมงบฯลงทุนในอนาคตอีก 203,583 ล้านบาท เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ LNG value chain โครงการ Gas-to-Power รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง ดังนั้น หากรวมกับบริษัทในกลุ่มทั้งหมดระยะ 5 ปี จะมีงบฯลงทุน 900,000 ล้านบาท โดยสัดส่วน 60% เป็นการลงทุนในประเทศ อีก 40% เป็นการลงทุนในต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ทบทวนแผนลงทุนทั้งกลุ่ม 180,814 ล้านบาท (กราฟิก) ซึ่งจะเห็นว่าในจำนวนนี้ได้แบ่งสัดส่วนกว่า 52% ของเงินลงทุนทั้งหมดจะเน้นการร่วมทุนและลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย การขยายธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกยังอยู่ระหว่างเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โครงการมาบตาพุดเฟส 3 วงเงิน 93,181 ล้านบาท ขณะที่เงินลงทุนสัดส่วน 18% จะลงทุนโครงการท่อก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 วงเงิน 31,725 ล้านบาท และอีก 16% ใช้ลงทุนในโครงการแอลเอ็นจี (LNG)

เทอร์มินอล 2 วงเงิน 29,054 ล้านบาท

ที่สำคัญยังได้จัดสรรเม็ดเงินลงทุนสัดส่วน 8% ในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อสร้าง “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของประเทศ สนับสนุนงานนวัตกรรมใหม่ สร้าง prototype ผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาวัสดุปิดแผลจากไบโอเซลลูโลสคอมโพสิต เพื่อช่วยเร่งการรักษาบาดแผลด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. การวิจัยและพัฒนา EV charger

ขณะเดียวกัน มีการร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการธุรกิจใหม่ ๆ ด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบกักเก็บแบตเตอรี่ วงเงิน 15,182 ล้านบาท และสัดส่วน 6% ใช้ลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เช่น ปรับปรุงธุรกิจโรงแยกก๊าซ 11,672 ล้านบาท รวมถึงแสวงหาโอกาสลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่และสร้างธุรกิจใหม่

“ปตท.เริ่มทำธุรกิจไฟฟ้า GPSC เพราะมองว่าแม้ตั้งหลักช้า แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำไม่ได้ ทั้งนี้ ปตท.มีแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลายแห่ง ที่ยังคงเดินหน้า Gas-to-Power ลงทุนไฟฟ้าต่างประเทศ แต่ยังต้องใช้เวลา”

ลุยต่อ PTTOR

ขณะนี้ความคืบหน้าในการยื่นไฟลิ่งบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR นั้น นายชาญศิลป์ ยังยืนยันว่าเป็นไปตามแผนแม้ว่าสถานการณ์การค้าและตลาดจะมีความเปลี่ยนแปลง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 ทางคณะกรรมการบริษัท ปตท. มีมติให้จัดตั้ง “บริษัท มอดูลัส จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ PTTOR ในประเทศไทย โดยมอบให้บริษัท พีทีทีโออาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท พีทีทีโออาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ถือหุ้นทั้งหมด

ยอดขายสำคัญ-กำไรสำคัญกว่า

หากมองภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2562 รายได้จากการขาย 2,219,739 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5% จากธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจน้ำมันที่ลดลงจากราคาขาย รวมถึงเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 92,951 ล้านบาท ลดลง 22.3% จากปีก่อนที่ 119,647 ล้านบาท

สำหรับปี 2563 ตั้งเป้าหมายว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นจากปีก่อน จากปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น หลังบริษัทลูกเข้าซื้อกิจการค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ทั้ง PTTEP และ GPSC ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่เหมือนในปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นตามส่วนการลงทุน จะเน้นด้านความมั่นคงพลังงานและการรองรับนวัตกรรมที่รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น

“ปีที่ผ่านมา ยอดลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิต แต่ ปตท.เป็น leader ตลาดน้ำมัน มีรายได้จากน้ำมัน เรามองว่า แม้ยอดขายที่ผ่านมามีผลสำคัญแต่ยอดกำไรสำคัญกว่า”