รับอานิสงส์ “ทอง” แพง ลุ้น “โควิด-19” เอฟเฟ็กต์

Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

การส่งออกไทยเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 19,626 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ส่วนการนำเข้า มูลค่า 21,181 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.86% และไทยยังขาดดุล 1,556 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพรวมการส่งออกที่พลิกกลับมาเป็นบวกนั้น เป็นผลจาก การส่งออก “ทองคำ” ที่สูงขึ้น 299.6% จากผลพวงราคาทองคำตลาดโลกปรับขึ้นสูง และเพิ่งจะทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี นับจากปี 2556 และผลจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐ ทำให้สินค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวทั้งในตลาดสหรัฐและจีน รวมถึงทิศทางค่าบาทที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม เมื่อหักยอดส่งออกทองคำและน้ำมันออกไปแล้ว พบว่า การส่งออกไทยยังติดลบ 0.6%

โดยตลาดส่งออกหลัก เพิ่ม 3.1% โดยเฉพาะสหรัฐ ขยายตัว 9.9% สหภาพยุโรป 0.6% แต่ญี่ปุ่น ลด 2.5% ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 0.6% อาเซียน 6 ประเทศ ขยายตัว 3.8% CLMV ลด 0.7% จีน ขยายตัว 5.2% อินเดีย ลด 5.7% ฮ่องกง ลด 14.3% เกาหลีใต้ ลด 4.0% ไต้หวัน ขยายตัว 13.1%

ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 6.6% โดยออสเตรเลีย ลด 16% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 25% แอฟริกา ลด 14.2% ละตินอเมริกา ลด 4.1% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ขยายตัว 20% รัสเซียและ CIS ลด 0.9% แคนาดา ขยายตัว 3.8% และสวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 305.8%

ในรายสินค้า พบว่า กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว 5.2% จากทองคำ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ส่วนสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังหดตัว 6.3% จากข้าว ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป แต่มีสินค้าบางรายการที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า สัญญาณดีจากการนำเข้าเครื่องจักร เพิ่มขึ้น 18.7% สะท้อนว่ามีการย้ายซัพพลายเชนบางส่วนเข้าไทย

ประกอบกับกระทรวงมีแผนจะขยายตลาด 18 ประเทศ และเร่งรัดการเจรจา FTA ที่ค้าง และเริ่มเจรจา FTA ใหม่ อาทิ CPTPP ตลอดจนโอกาสขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า รวมถึงโอกาสจากช่องทางการค้ารูปแบบออนไลน์ ทั้งหมดเป็นแรงหนุนการส่งออก หากสามารถทำได้เฉลี่ยเดือนละ 21,049 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปีนี้ก็มีโอกาสจะขยายตัว 2% ได้

อย่างไรก็ตาม ไทยคงยังต้องลุ้นแรงกดดันจาก “ไวรัส COVID-19” ต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุปสรรคด้านโลจิสติกส์จากประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง คาดว่าจะปรากฏผลชัดเจนในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์จะประชุมทูตพาณิชย์ เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์และหามาตรการผลักดันการส่งออกต่อไป