ชงบีโอไอหนุนลงทุนแก้ภัยแล้ง เว้นภาษี 5 ปี ผันน้ำเค็มเป็นน้ำจืด-รีไซเคิล

“บอร์ด EEC” วางแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว ชงบีโอไอออกแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์ภาคเอกชน จูงใจลงทุนรีไซเคิลน้ำ-ผันน้ำทะเลเป็นน้ำจืดใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เปิดกว้างรูปแบบลงทุนทั้ง PPP หรือเอกชนเอง ลุ้นแผน “ผันน้ำสตึงมนัม” หากรัฐบาลเจรจากันได้ “กอบศักดิ์” รับคำพร้อมหนุนสิทธิประโยชน์ กำหนดเงื่อนไขจากเดิมยกเว้นภาษีให้แล้ว 5 ปี ล่าสุดบิ๊กธุรกิจ WHA SCG ปตท. อีสท์ วอเตอร์ นำร่องไปแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการหารือเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำในระยะสั้นและระยะยาว โดยเบื้องต้นเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำมาตรการสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่มีการลงทุนบำบัดน้ำเสียและขายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนในการผันน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนที่ให้ความสนใจในการลงทุนนำน้ำเสียมารีไซเคิล การผันน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด เพื่อเป็นน้ำสำรองในอนาคตสำหรับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

“แม้ว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในพื้นที่อีอีซีจะยังมีเพียงพอสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้ไม่ให้ขาดเมื่อเกิดวิกฤตภัยแล้งขึ้น บีโอไอต้องไปกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุน เช่น ปริมาณน้ำที่รีไซเคิลออกมานั้นจะต้องมีปริมาณเท่าไร ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพราะเราต้องการให้เขาขายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง ใช้เทคโนโลยีอะไรซึ่งต้องเป็นขั้นสูงหรือไม่ สิ่งนี้ต้องไปหารือกันอีกและบีโอไอต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนให้มันเกิดอีกทาง ซึ่งจะช่วยลดความกังวลให้ภาคอุตสาหกรรมและนักลงทุน” 

สำหรับรูปแบบการลงทุนดังกล่าว อยู่ระหว่างหารือเพื่อกำหนดว่าจะเป็นไปในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) หรือเอกชนสามารถลงทุนเพียงผู้เดียวได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีแนวคิด โครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา จำนวน 300 ล้านลูกบากศ์เมตร/ปี และแผนดังกล่าวได้ถูกถอดออกไปหลังจากที่รัฐบาลต่อรัฐบาลยังไม่บรรลุการเจรจาข้อตกลงกันได้ และไทยเองก็ยังคงมีแผนบริหารจัดการน้ำในประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ได้ ล่าสุดในการประชุมดังกล่าวแม้โครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงมนัมจะไม่ได้อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC แต่หากทั้ง 2 รัฐบาลสามารถเจรจากันได้ โครงการดังกล่าวก็ดึงกลับเข้ามาในแผนได้ ขึ้นอยู่กับภาครัฐจะเจรจากันได้หรือไม่ 

โดยขณะนี้มีเอกชนบางรายลงทุนรีไซเคิลน้ำขายให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และส่วนการดำเนินโครงการผันน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืดก็มีการลงทุนแล้วหลายราย เช่น บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การจัดทำมาตรการบีโอไอเพื่อสนับสนุนการลงทุนเรื่องน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม สามารถทำได้และส่งผลดีต่อประเทศอย่างมาก ไม่เพียงจะมีปริมาณน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอแล้ว ยังได้นำน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ โดยตนรับปากที่จะเป็นผู้หารือกับทางบีโอไอเองที่จะรับคำสั่งนี้ไปดำเนินการต่อให้เป็นรูปธรรม

“ทางบีโอไอรายงานให้ทราบว่า ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวมีกำหนดไว้แล้วอยู่ในหมวด 7 กลุ่มประเภทสาธารณูปโภค กิจการผลิตน้ำประปา น้ำเพื่ออุตสาหกรรม หรือไอน้ำ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (A3) และยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ดังนั้น บีโอไอจึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มประเภทกิจการขึ้นมาใหม่ สามารถลงทุนและได้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการดังกล่าวได้เลย โดยบีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะการลงทุนใหม่เท่านั้น รายที่ลงทุนไปแล้วก็ไม่ได้ นอกจากจะมีโปรเจ็กต์ใหม่ ขยายการลงทุนเพิ่ม ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ก็เข้ามาขอสิทธิประโยชน์ได้”

แต่อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนจะต้องพิจารณารายละเอียดที่ตั้งโครงการเป็นตัวสำคัญด้วยเช่นกัน หากเอกชนลงทุนในพื้นที่เอกชนเอง และวางท่อหรือใช้วิธีขนส่งแบบใดก็ตามเพื่อขายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม ก็จะเข้าข่ายและได้สิทธิประโยชน์ แต่หากขายให้ภาคธุรกิจอื่น เช่น หอพัก ก็จะไม่เข้าข่ายได้รับการส่งเสริม เป็นต้น แต่หากพื้นที่ลงทุนมีเจ้าของเป็นรัฐ หรือมีสัมปทานอยู่ต้องไปตกลงกับเจ้าของพื้นที่ก่อน เช่น โครงการของอีสท์ วอเตอร์ที่ยังติดปัญหาการลงทุนบางส่วน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเจ้าของพื้นที่ คือ กองทัพเรือ ไม่สามารถลงทุนได้จนกว่าเจ้าของพื้นที่อนุญาต หรือต้องไปบิดประมูลกับรายอื่น จึงจะขอ
บีโอไอได้

รายงานข่าวระบุว่า นอกจาก WHA SCG และอีสท์ วอเตอร์ลงทุนแล้วนั้น ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังมีแผนร่วมทุนโครงการผลิตน้ำอุตสาหกรรมจากน้ำทะเล หรือนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดที่อยู่ในงบฯลงทุน 203,583 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแผนดังกล่าว ซึ่งในกลุ่ม ปตท.มีทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินโครงการรีไซเคิลน้ำและผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแล้วเช่นกัน