จากใจ อธิบดีหน้ากากอนามัย “วิชัย” รูดม่านชีวิตราชการ 36 ปี

หลังรับทราบคำสั่ง 80/2563 ให้ย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 มีนาคม 2563 จากประเด็นร้อนในการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ “วิชัย โภชนกิจ” ทัพหน้างานบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ตัดสินใจยื่นลาออกในปีที่ 36 ของการรับราชการ ทั้งที่เหลือเวลาอีก 6 เดือนก็จะเกษียณในตำแหน่ง “อธิบดีกรมการค้าภายใน”

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นายวิชัยได้มาอำลาข้าราชการทันทีแม้ว่าหนังสือลาออกจะมีผลในวันที่ 23 เมษายน พร้อมทั้งได้เปิดใจเล่าถึงความรู้สึกหลังจากได้รับคำสั่งที่ไม่ทราบมาก่อนว่า

คำสั่งเด้ง “ฟ้าผ่า”

ได้พิจารณาว่าตัวเองจะทำอย่างไรต่อไป เบื้องต้นได้แจ้งปลัดกระทรวงพาณิชย์แล้วในช่วงเวลา 6 เดือนจากนี้ก่อนเกษียณอายุราชการจะขอพักผ่อนร่างกายหลังจากที่หักโหมทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถปล่อยให้ทีมงานทำงาน โดยไม่มีผู้นำได้ แต่ตอนนี้ ถือว่าสบายขึ้นคงไม่มีภาระที่จะต้องมาดูแล ขอให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ พร้อมแนะนำและให้คำปรึกษา แต่คงไม่ได้มีโอกาสมาแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ได้

โดยเขายอมรับว่า 36 ปีในชีวิตราชการเจองานหินมากมายทั้งการผลักดันร้านประชารัฐ การประกันรายได้พืช แต่ทั้งหมดเทียบไม่ได้กับงานดูแลหน้ากากอนามัย ซึ่งเรียกว่าถึงมีวิชัย 100 คน ก็ดูแลเรื่องนี้ได้ยาก และเมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิด การคิดว่าทุกคนต้องมีหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องผิดพลาด เพราะภายใต้ข้อจำกัดการผลิตหน้ากากอนามัย 11 โรงงาน ทำได้ 1.2 ล้านชิ้นต่อวันเทียบกับจำนวนคนไทย 65 ล้านคน ดังนั้น สร้างความคาดหวังว่าทุกคนต้องมี 1 ชิ้น เท่ากับ 65 ล้านชิ้นเป็นเรื่องยากมาก เมื่อก้าวผิดพลาดแต่ด้วยงานที่ได้รับมอบหมายก็ต้องเดินหน้า

ต่อไป เปรียบเสมือน “เหมือนไม้ตะเกียบ หรือไม้จิ้มฟันไปงัดไม้ซุง” แต่ก็เป็นงานที่ถูกรับมอบมา ซึ่ง “เอาภูเขายัดครกยังง่ายกว่า”

หน้ากากผ่านมือ 15 ล้านชิ้น

นายวิชัยสรุปว่า นับตั้งแต่วันที่ 7-15 มีนาคม 2563 ได้รับบริหารจัดการหน้ากากอนามัยรวมประมาณ 15 ล้านชิ้น โดยครั้งแรกที่ได้บริหารยืนยันว่าจัดส่ง 700,000 ชิ้นไปให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน

“หากกลุ่มนี้ขาดแคลนหน้ากากอนามัยทุกคนรับไม่ได้ ตนเองก็รับไม่ได้เช่นกัน พยายามเพิ่มการจัดสรรไปให้มากขึ้น จึงได้ยึดจำนวนการผลิตทั้งหมด 11 โรงงานเข้ามาบริหารจัดการเองโดยผ่านศูนย์การจัดสรรหน้ากาก โดยเป็นการจัดสรรตัวเลขมาบริหารจัดการ ไม่ได้ยึดหน้ากากที่ผลิตมาดูแล ซึ่งจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการว่าแต่ละกลุ่มจะได้หน้ากากอนามัยจำนวนเท่าไร”

เพิ่มกำลังการผลิต 2.2 ล้านชิ้น

ตอนนี้สถานการณ์การผลิตดีขึ้นทั้ง 11 โรงงานเร่งกำลังการผลิตเพิ่ม โดยบางรายปรับสายการผลิตหันมาผลิตหน้ากากที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น ทำให้กำลังการผลิตขยับจาก 1.2 เป็น 1.56 และขยับเพิ่มขึ้น 1.78 ล้านชิ้นต่อวัน และอาจเห็นกำลังผลิตสูงถึง 2.2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งจะสามารถจัดสรรไปให้กับกลุ่มเสี่ยง เช่น หมอ พยาบาล ผู้ป่วยได้ 1.1 ล้านชิ้นต่อวัน “เพียงพอ” ต่อความต้องการ ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ร้านธงฟ้า ร้านสะดวกซื้อ ก็จะเร่งจัดสรรลงให้มากที่สุด อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์เร่งหาช่องทางอื่นเพิ่ม โดยประสานไปยังสถานทูตจีน ขอนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากาก และหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเดือดร้อน

แจงปมทุจริตตุนหน้ากาก

หนึ่งในข้อกล่าวหาร้ายแรงคือ ข้าราชการมีส่วนร่วมในการจัดสรรปันส่วนหน้ากากอนามัยให้กับนักการเมือง ซึ่งกระแสข่าวปรากฎชื่อทีมที่ปรึกษานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ปมกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ทำให้การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยไม่ลงตัว ซึ่งเป็นปมหนึ่งที่เกี่ยวกับคำสั่ง

นายวิชัยกล่าวว่า “การทำงานที่จะกระทบหลายฝ่ายจากการคุมราคาสินค้าห้ามส่งออกการเก็บสต๊อก ยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท่านใด ไม่ได้มีการเปิดให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังตนได้ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน เรื่องนี้เป็นเรื่องของความอยู่รอด หากมีการหาผลประโยชน์ถือว่าแย่มาก”

“เรื่องกักตุนหน้ากาก 200 ล้านชิ้น อธิบายหลายครั้งแต่ไม่มีใครเชื่อ กลับเชื่อสิ่งที่เป็นกระแสและถูกขยายผลออกไป ข้อเท็จจริงคือเรามีวัตถุดิบผลิตหน้ากากได้ 200 ล้านชิ้นใน 4 เดือน หรือ 50 ล้านชิ้นต่อเดือน ไม่ใช่สต๊อก 200 ล้านชิ้น และการตรวจสอบข้อเท็จจริงในสต๊อกที่ตรวจสอบมีเพียง 20 ล้านชิ้นเท่านั้น”

อนุญาตส่งออกตามเงื่อนไข

ส่วนกระบวนการอนุญาตส่งออกให้บริษัทหนึ่งภายหลังจากขึ้นบัญชีควบคุมแล้วนั้น ขอบอกว่า “ตนรักคนไทยไม่น้อยไปกว่าผู้บริหารคนอื่น ตนไม่เคยแย่งหน้ากากคนป่วยไม่เคยแย่งหมอ การที่อนุญาตส่งออกเป็นภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะมีเงื่อนไขทางกฎหมาย เช่น เป็นผู้ผลิตที่ส่งออกโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น ไม่มีขายภายในประเทศ ติดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นหน้ากากที่ประเทศไทยไม่ใช้ หมอไม่ใช้ จะไม่อนุญาตมันก็ทำไม่ได้ อีกทั้งผู้ผลิตได้รับความเดือดร้อน และคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตส่งออก ตนก็ไม่ได้เป็นคณะกรรมการร่วมเพราะเกรงว่าจะเป็นการแทรกแซงจึงต้องผ่านการพิจารณาก่อนที่จะเสนอเพื่อให้มีการอนุมัติ ซึ่งตนไม่เคยปิดบังและทำงานอย่างรอบคอบที่สุด มีผู้ขออนุญาตส่งออก 53 ล้านชิ้นอนุญาตไป 10 ล้านชิ้นเท่านั้น นับตั้งแต่หน้ากากอนามัยเข้าเป็นสินค้าควบคุมเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ตลอดอายุราชการ 36 ปีที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายของกรมการค้าภายในไม่เคยเข้มงวดและจริงจังมากกว่านี้ จากการใช้กฎหมาย มาตรา 29 จากการจำหน่ายหน้ากากเกินราคา ซึ่งดำเนินคดีไปแล้ว 150 คดี ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อประเทศและรัดกุมที่สุด

ส่งไม้ต่องาน-คดีฟ้อง

การทำหน้าที่จากนี้ขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารจะจัดคนมาดูแลเรื่องนี้ต่อไป สำหรับตนถือว่าได้ยกภูเขาออกจากอกแล้ว ส่วนการดำเนินคดีที่มีการฟ้องร้อง (นายชัยยุทธ คำคูณ โฆษกกรมศุลกากร ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในข้อหาการหมิ่นประมาทด้วยการให้ข้อมูลว่ากรมการค้าภายในให้ส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน) ไปก่อนหน้านี้ก็ขึ้นอยู่กับอธิบดีคนใหม่จะดำเนินการอย่างไร ตนฟ้องในนามอธิบดีกรมการค้าภายใน เพราะต้องการรักษาชื่อเสียงของกรมการค้าภายในซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการรับราชการของตน

อย่างไรก็ตาม จากนี้เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในยังมีภารกิจที่หนักและยากเย็นแสนเข็ญอีกหลายเรื่องที่ต้องรับมือ หากกระทรวงสาธารณสุขมีประกาศการรับมือไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ภาระหน้าที่ที่จะตามมานั้น กรมการค้าภายในต้องรับมือให้ได้

ฉะนั้น ต้องหนักแน่นในการทำงาน เพราะสังคมให้ความคาดหวังในการปฏิบัติหน้าที่แม้ว่าจะเป็นงานที่ลำบากและยากที่จะต้องดูแล หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ได้ตามที่สังคมคาดหวังไว้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม