ชักกลับงบติดมิเตอร์แท็งก์ หวั่นปาล์มมาเลย์ถล่มไทย

หวั่นน้ำมันปาล์มเพื่อนบ้านทะลัก หลังมาเลย์ปิดประเทศทุบน้ำมันปาล์มดิบต่ำกว่าไทย กก.ละ 15 บาท “พาณิชย์” ติดมิเตอร์วัดแท็งก์ปาล์มไม่ทัน เหตุรัฐชักกลับงบฯ 372 ล้านบาท เอกชนแนะรัฐต้องวางแผนรับมืออีก 2 เดือน สต๊อกปาล์มล้นแน่ ต้องเปิดเผยข้อมูลบริหารจัดการ 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า หลังจากมาเลเซียดำเนินมาตรการปิดประเทศชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 เฉลี่ยที่ กก.ละ 21.05 บาท ต่ำกว่าราคา CPO ของไทยที่ราคาเฉลี่ย กก.ละ 36.19 หรือส่วนต่างราคาถึง กก.ละ 10-15 บาท ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลใจในเรื่องการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งระบบอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ถังเก็บให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยอนุมัติงบประมาณจำนวน 372.516 ล้านบาท

“ในช่วงภัยแล้งและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องเฝ้าระวังสินค้าเกษตรที่อาจมีการลักลอบนำเข้า โดยปาล์มน้ำมัน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของไทย ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563เฉลี่ย กก.ละ 36.19 บาท สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดมาเลเซียเฉลี่ย กก.ละ 21.05 บาท” 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม หรือมิเตอร์ เพื่อบริหารจัดการและ ควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะใช้ในการตรวจสอบและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม แบบเรียลไทม์ ที่ได้ผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มอบให้กรมการค้าภายในทำหน้าที่ยกร่างประกาศหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) เพื่อเปิดประมูลแบบe-Auction หรือ electronic auction ด้วยวงเงิน 372 ล้านบาทนั้น อาจต้องชะลอหรือหยุดไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องดึงงบฯที่อนุมัติ 372 ล้านบาทกลับไป แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอเรื่องนี้กลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง 

“การติดตั้งมิเตอร์จะเป็นการติดตามปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ จะทำให้รู้ว่าปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น-ลดลงเท่าไร ซึ่งจะมีรายงานตรงมายังหน่วยงานที่ดูแลสาเหตุที่ต้องติดตั้งเพื่อแก้ปัญหาลักลอบด้วย”

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายผู้ครอบครองถังเก็บน้ำมันปาล์ม ได้แก่ โรงสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั้นน้ำมันปาล์ม โรงงานไบโอดีเซล และคลังรับฝาก และมีการเก็บน้ำมันปาล์มดิบ โดยมีขนาดความจุถังละตั้งแต่ 1,000 ตันขึ้นไป ข้อมูลการสำรวจปริมาณถัง ณ วันที่ 22 ส.ค. 2562 มีจำนวนถังจัดเก็บปัจจุบันไม่น้อยกว่า 455 ถัง

ด้านนายกฤษดา ชวนะนันท์ นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ การรายงานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เข้าสู่ขั้นตอนการผลิต มีปริมาณเท่าไร ปาล์มน้ำมันที่ได้เข้าสู่การผลิตในกลุ่มพลังงาน อุปโภค บริโภค ปริมาณเท่าไร เพื่อที่จะทำให้ภาคธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยว มีทิศทางในการทำธุรกิจที่ชัดเจน รวมไปถึงการบริการจัดการสต๊อกและผลิตในอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาการรายงานข้อมูลมีความถี่มากขึ้นจาก 2 เดือนครั้ง เป็นทุกเดือน 

ล่าสุด รายงานสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีปริมาณ 1.7 แสนตัน คาดว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มจะปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 เพราะปัญหาไวรัสโควิด-19ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบทั้งด้านพลังงานและการบริโภคลดลง จากปัญหาการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทำให้ภาคขนส่งลดลง ร้านอาหาร เป็นต้น สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจึงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทันที

ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบในขณะนี้ กก.ละ 25-26 บาท สูงกว่าน้ำมันปาล์มดิบในต่างประเทศที่กก.ละ 15-16 บาท หากปริมาณสต๊อกเพิ่มขึ้นอาจจะทำให้ทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับ คาดว่าอาจจะอยู่ที่ กก.ละ 15-20 บาท สำหรับน้ำมันปาล์มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 16% หรือคิดเป็นราคาผลปาล์ม กก.ละ 2 บาท ซึ่งทางภาครัฐอาจต้องหามาตรการเข้ามาดูแลเกษตรกรต่อไป   

“สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นสต๊อกล้น และจะมีผลอย่างเมื่อช่วงที่ผ่านมาที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบล้นสต๊อกจำเป็นต้องหามาตรการเข้ามาดูแล แต่หากหน่วยงานที่ดูแลสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เชื่อว่าเอกชนสามารถบริการจัดการธุรกิจได้”