หอการค้า-ส.อ.ท.ฝ่าโควิด Q2 ระดมแผน BCP-BCM ธุรกิจต้องไม่สะดุด

พิษโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจ ความมั่นใจเอกชนทรุด ด้าน ส.อ.ท.เตรียมรับมือไตรมาส 2 ออกแผน BCP ฟื้นกำลังการผลิตให้ได้ใน 6 ชม. “หอการค้าฯ” ร่างแผน BCM วางระเบียบการปฏิบัติที่เหมาะรับวิกฤต ธุรกิจต้องไม่สะดุด 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เอกชนชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อการส่งออก การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง กกร.จึงได้ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ GDP ในปี 2563 อาจลดลงมาที่ 2.0-2.5% จากเดิม 2.5-3.0% 

ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 2563 ปรับตัวลดลงเหลือแค่ระดับ 90.2 จากระดับ 92.2 ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวลดลงเหลือเพียงระดับ 98.1 จาก 99.4 ในเดือน ม.ค. ต่ำสุดในรอบ 45 เดือน (ตั้งแต่ พ.ค. 2559)  

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนต้องเริ่มเตรียมแผนรับมือไตรมาส 2 แล้ว เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ดัชนีทุกตัวทั้งรายใหญ่ กลาง เล็ก ทุกภูมิภาค ทุกอุตสาหกรรม หัวทิ่มกันหมด หลายสินค้าผลิตลดลง เช่น รถยนต์ผลิตลดลง 1 แสนคัน จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 2 ล้านคัน และแน่นอนว่าในไตรมาส 2 แนวโน้มก็ยังไม่ดีขึ้น และจากการสำรวจผู้ประกอบการในกลุ่มสมาชิกพบว่า ผลมาจากกำลังซื้อในประเทศซบเซาอย่างหนัก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การผลิต รวมถึงการขนส่งสินค้า การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนที่มีความล่าช้า และยังผลกระทบจากภัยแล้ง 

หลังจากประชุมคณะกรรมการบริหารวาระเร่งด่วน เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้เริ่มปฏิบัติตาม 6 ข้อหลัก คือ 1.จัดเตรียมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในภาคการผลิต (BCP) โดยการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น พร้อมจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้สภาวะฉุกเฉิน เช่น การปฏิบัติงานจากบ้าน (work from home)

2.สื่อสารและให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความตื่นตระหนก โดยเน้นการสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ

3.จัดสรรแยกกลุ่มพนักงานเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างน้อยออกเป็น 2 กลุ่ม ลดการพบปะกันโดยตรง และนำ video conference มาใช้ในการสนทนาและประชุม

4.ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัส เช่น ใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้าเข้า-ออกงานแทนการสแกนนิ้วมือ รวมถึงการชำระเงินผ่านการสแกน QR code

5.ประเมินคู่ค้า วางแผนสำรองและหาแหล่งทดแทนด้วยการตรวจสอบความสามารถในการผลิตและขนส่ง วิเคราะห์ความเสี่ยงด้าน supply chain จากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด และเตรียมหาแหล่งวัตถุดิบสำรองภายในประเทศทดแทน

และ 6.ถ่ายโอนความเสี่ยงทางการเงินด้วยประกันภัย ที่สามารถช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ และชดเชยให้บริษัทในกรณีมีบุคลากรหลักเสียชีวิต เป็นต้น

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มสมาคมการค้าอาหารและเครื่องดื่มสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้หอการค้าฯได้จัดทำโมเดล  Business Continuity Management (BCM) เพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจสำหรับใช้ภายในหอการค้าฯและสมาชิก โดยมาตรการนี้เป็นมาตรการดูแลและป้องกันเรื่องเครดิตในองค์กร เช่น การวางระเบียบการรักษา การเข้าออกที่ทำงาน ต้องจัดระเบียบอย่างไร ที่นั่งในที่ทำงานต้องห่างกันแบบไหน เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจไม่สะดุดหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดูแลจากนี้มองว่าทำอย่างไรจะชะลอความเสียหายให้ได้มากที่สุด และฟื้นตัวกลับมาให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แต่ถือว่าประเทศไทยสามารถบริหารจัดการปัญหาไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มต้นช้าแต่ทำอย่างไรจะฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นภายในประเทศ

สำหรับมาตรการดูแลของภาครัฐนั้น ทาง ส.อ.ท.เสนอให้รัฐตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs และคนตกงาน ที่คาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านคน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

โดยการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 2% ให้ระยะเวลาผ่อนชำระ 6 เดือน-1 ปี สำหรับ SMEs ให้รายละ 20 ล้านบาท ผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์หรือของรัฐ เพื่อทำหน้าที่คัดกรอง แต่ไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ของธนาคาร ซึ่งรัฐสามารถใช้วิธีการออกพันธบัตร เพื่อนำเงินก้อนดังกล่าวมาใช้  พร้อมกันนี้ขอให้จัดทำคูปองสำหรับลูกจ้างที่ต้องตกงาน สามารถนำไปใช้เข้าโครงการพัฒนาฝีมือ อาชีพ วงเงินรายละ 10,000-20,000 บาท ซึ่งจะใช้วงเงินในกองทุนดังกล่าวประมาณ 20,000 ล้านบาท 

ขณะที่หอการค้าฯระบุว่า มาตรการดูแลขอให้เน้นที่กลุ่มคนชั้นกลางและชั้นล่าง เนื่องจากจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่การช่วยเหลือ SMEs แม้จะมีมาตรการสินเชื่อ แต่จำเป็นต้องวางเงื่อนไขให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อด้วย