ดึงน้ำขุมเหมืองแก้วิกฤตแล้ง กพร.เทงบพิเศษต่อท่อส่งตรงช่วยชุมชน

เร่งช่วยชาวบ้าน “กพร.” สั่งทุกอุตสาหกรรมจังหวัดสำรวจขุมเหมือง ปริมาณน้ำที่สะอาด เตรียมดึงน้ำ 166 ล้านลูกบาศก์เมตรช่วยชาวบ้าน พร้อมดึงงบฯ 300 ล้านบาท ช่วยลงทุนปั๊ม วางระบบท่อส่ง หากน้ำขุมเหมืองไกลแหล่งชุมชน

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กพร.สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทุกแห่งที่มีการทำเหมืองแร่ให้สำรวจพื้นที่เหมืองทั้งหมดทั่วประเทศ ตรวจสอบขุมเหมืองที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอด ให้สามารถนำน้ำไปให้ชุมชนใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 มีความรุนแรง และเกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปี การดำเนินการนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อช่วยประชาชนและพื้นที่ภาคการเกษตร

รายงานล่าสุด จากการตรวจสอบข้อมูลที่ผ่านมาของ กพร. พบว่า มีพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งในเหมืองเก่าและเหมืองที่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 238 แปลง จำนวน 36 แห่ง และมีปริมาณน้ำรวม 166,019,100 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นับว่ามีปริมาณน้ำมากที่สุดที่เหมืองมี โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่แจกจ่ายน้ำให้กับบริเวณใกล้เคียงก่อน

“ส่วนในพื้นที่บางเหมืองที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน ให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานงานร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และประสานชุมชน จัดทำโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ ที่จะใช้ลงทุนเพื่อซื้อปั๊มน้ำ หรือวางระบบท่อส่งน้ำ ให้สามารถนำน้ำออกมาจากพื้นที่เหมืองเพื่อช่วยชาวบ้านได้ ซึ่งหากคำนวณค่าใช้จ่ายในการลงทุนดังกล่าวแล้ว 1 บ่อ จะใช้เงินลงทุนไม่กี่แสนบาทเท่านั้น”

หากทาง อบต.ไม่สามารถจัดสรรงบฯหรือมีไม่เพียงพอ ให้ประสานข้อมูลส่งเรื่องไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อทางส่วนกลาง กพร. จะเตรียมจัดสรรงบประมาณจากเงินบำรุงพิเศษ ที่เก็บในอัตรา 5% ของค่าภาคหลวง ตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่) พ.ศ. 2560 ซึ่งปัจจุบันมีงบประมาณสะสมอยู่ 300 ล้านบาท โดยในแต่ละปีสามารถเก็บค่าภาคหลวงได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท

“เรามีการรับมือภัยแล้ง โดยชักชวนผู้ประกอบการที่มีเหมือง มีบ่อน้ำ ช่วยดูแลชาวบ้านใกล้ ๆ รอบพื้นที่ หากสำรวจว่าชุมชนขาดน้ำ โดยเหมืองจะต้องตรวจคุณภาพน้ำก่อนที่จะมีการแจกจ่าย”

ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.แร่  เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่จะมีข้อบังคับไว้ว่า เมื่อทำเหมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่ทั้งหมดให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เช่น การปลูกป่า ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเก็บน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้ง เป็นต้น ถือเป็นแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ขุมเหมืองที่หมดอายุสัมปทานไปแล้ว เพื่อพัฒนาพื้นที่ขุมเหมืองให้เป็นแหล่งเก็บน้ำ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กพร.ได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่และสถานประกอบการที่มีศักยภาพ ในการนำน้ำจากขุมเหมืองไปใช้ประโยชน์ พบว่า มีการนำน้ำจากขุมเหมืองไปใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว จำนวน 9 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำ 32,729,600 ลบ.ม.

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด อบต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดส่งข้อมูลผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำและปริมาณน้ำในขุมเหมืองในเขตพื้นที่รับผิดชอบทราบเป็นระยะ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกขุมเหมืองที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนา และดูแล บำรุงรักษา ระบบการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งยังได้สำรวจเพิ่มเติม โดยมีการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่ขุมเหมืองและประเมินปริมาณน้ำเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีอุปสรรคทั้งจากเรื่องประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการนำน้ำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากประชาชนบางส่วนกลัวว่าจะมีสารปนเปื้อน อุปสรรคจากที่ตั้งเหมืองบางแห่งระยะไกลจากพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตร ปัญหาขาดอุปกรณ์เครื่องมือ
ในการวัดปริมาณน้ำ และรัฐไม่มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ด้านชีวภาพ ต้องส่ง
ให้เอกชนช่วย