ธุรกิจประมงผวาอนุสัญญา C188 หวั่นไทยเข้าร่วมต้องใช้ทุนสูงปรับปรุงเรือ

ประมงหนาวเจออีกเด้ง ไทยเตรียมเข้าร่วมอนุสัญญา C188 คุมเข้มสวัสดิภาพแรงงานประมงตามมาตรฐานสากล ซ้ำเติมอุตสาหกรรมประมงต่อจากการทำประมงผิดกฎหมาย IUU หากให้เรือที่มีอยู่ในปัจจุบันปรับปรุงเรือใหม่ เหตุขาดเงินทุน เลขาธิการ Seafdec ชี้ควรบังคับใช้กับ “เรือใหญ่ที่ต่อใหม่” ด้านกรมประมงออกแบบเรือ “ปลาลัง” นำร่องรับมือ 

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการขอเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานสากล (ILO) ตามแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรระหว่างประเทศ (International Labour Organization C188 – Working on fishing Convention) เพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงเรือประมงให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งความปลอดภัย และสุขอนามัยนั้น อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานสากล ILO หรือ C188 มีประเด็นของการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ด้วย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินการคู่ขนานซึ่งค่อนข้างซับซ้อน โดยอนุสัญญาฉบับนี้สหภาพยุโรป (อียู) พยายามผลักดันให้ไทยเข้าร่วมโดยเร็ว โดยประเด็นหลัก คือ จะต้องควบคุมเรือให้มีสุขอนามัยที่ดี แต่หากไทยต้องดำเนินเข้าร่วมสัตยาบันดังกล่าวจริง อาจจะได้รับผลกระทบ ถ้าไปกำหนดเรือประมงที่มีอยู่เดิมเป็นรูปแบบเรือใหม่ทั้งหมดจริงอาจจะลำบาก เพราะบริบทไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งยังต้องใช้เวลาแก้ไขในหลายมิติ

ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรือปลาลังโมเดลที่กรมประมงอยู่ระหว่างออกแบบ เป็นเรือที่มีขนาดเล็กเกินไป ไม่เหมาะกับการทำประมง เรืออวนลากสามารถทำได้เพราะคนบนเรือมีเพียง 10 คน แต่เรืออวนล้อมคนบนเรือ 40 คน ต้องใช้เรือ 100 ตันกรอสขึ้นไป ตรงนี้จะกำหนดอย่างไร ประเด็นขนาดเรือไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายต้องใช้เงินทุนมหาศาล แม้ว่าสมาคมจะเห็นด้วยกับการปรับปรุงเรือให้มีสภาพดีขึ้น รวมทั้งการควบรวมเรือ แต่หากบริบทไม่เหมาะสมอาจจะส่งผลกระทบหนักเข้าไปอีก

“หากออกกฎหมายลักษณะนี้มาอีกชาวประมงต้องใช้งบฯสูง รัฐมองว่าเป็นเรื่องง่าย แต่อาจเป็นไปได้ยาก ไม่ใช่ว่าอะไรที่รัฐอยากจะทำก็ทำ แต่เราไม่มีเงินทุน ผมเคยทำเรือใหญ่ขึ้นแต่พบว่าเรือต้านลมไม่ได้ ต้องไปติดปีกเครื่องมือต่าง ๆ เพิ่ม เพราะการที่อยู่บนเรือประมงมีทั้งคลื่นและลม เมื่อไหร่เจอคลื่นลม เรือขวางคลื่นลมเมื่อใดคว่ำทันที อีกทั้งกฎหมายฉบับใหม่ของกระทรวงแรงงานครอบคลุมแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีหลักประกันว่ามีสัญชาติหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่กฎหมายแรงงานยังไม่มีกรอบที่ชัดเจน”

นายคมน์ ศิลปาจารย์ เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Seafdec) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอนาคตอันใกล้ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานสากล (ILO) ตามแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรระหว่างประเทศ (International Labour Organization C188 – Working on fishing Convention) เพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงเรือประมงให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ทั้งความปลอดภัย และสุขอนามัย

ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล ที่สหภาพยุโรป (อียู) พยายามผลักดันให้ประเทศไทยดำเนินการให้สัตยาบันโดยเร็วนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพการทำงานบนเรือของลูกเรือประมงเป็นหลัก แต่เนื่องจากว่าสภาพแวดล้อมการประมงไทยยังต้องปรับอีกหลายมิติให้สอดคล้องตามหลักสากล กรมประมงจึงต้องกำหนดเรือไม้สำหรับการทำประมงอวนลาก อวนลอย ลอบ เบ็ด ฯลฯ ขนาด 38 ตันกรอส ขึ้นไป เพื่อชี้ให้เห็นว่าในอนาคตหากไทยต้องเข้าร่วมตามอนุสัญญาดังกล่าวควรจะต้องมีเรือที่ถูกต้อง สุขอนามัย สวัสดิภาพแรงงานตามหลักสากล

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากไทยต้องเข้าร่วมในเชิงปฏิบัติ ทางกรมประมงได้นำเรือปลาลังมากำหนดเป็นเรือต้นแบบ และประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับกฎหมายแรงงานสากลด้วย แต่เมื่อสื่อสารออกไป กลับพบว่าชาวประมงไม่ได้ให้ความสนใจ จริง ๆ แล้วเงื่อนไขอาจจะไม่ใช่เรือทั้งหมดเป็นได้ ชาวประมงมองว่าขนาดของเรือและบริบทไม่สอดคล้องกับการประมงไทยอย่างสิ้นเชิง

“ตอนนี้ไทยยังไม่ได้ลงนามเข้าร่วมในอนุสัญญาฯฉบับดังกล่าว แต่มีแผนยกระดับมาตรฐานสากล ซึ่งต้องยอมรับว่าเรือประมงไทยแทบจะไม่สอดคล้องตามสากล รวมทั้งบริบทไม่เอื้ออำนวย เพราะโดยทั่วไปแล้วเรือประมงไทยไม่มีสุขา แม้กระทั่งจำนวนคนบนเรือ อย่างเรืออวนล้อมมีคนบนเรือมากถึง 40 คน แต่เงื่อนไขสากลกำหนดขนาดเรือเล็กมาก หากไทยตอบรับลงนาม อาจจะมีผลกระทบต่อเรือประมงที่มีทั้งหมด

สมมุติว่าในอนุสัญญาจะบังคับเฉพาะเรือที่ต่อใหม่ 300 ตันกรอสขึ้นไปเท่านั้น นั่นหมายความว่าเรือที่ใช้อยู่ปัจจุบันอาจจะไม่ต้องเข้า C188 ก็ได้ แต่หากไปลงนามภายใต้เงื่อนไขครอบคลุมเรือทุกรูปแบบหมด อาจส่งผลกระทบหนักต่อชาวประมง ปรับตัวไม่ทัน แต่เราต้องเริ่มให้ความสำคัญกับแรงงานบนเรือแม้จะไม่กำหนดใน C188 ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ กรมประมงจึงเห็นว่าเราควรทำเรือต้นแบบสักลำ เพื่อให้มีที่นอน ห้องน้ำ ตามหลักสากล คือให้เรือปลาลังเป็นโมเดล แต่พอเริ่มทำก็เกิดปัญหาอีก การประชาสัมพันธ์สื่อสารระหว่างรัฐกับชาวประมงไปคนละทิศละทาง แต่ถึงอย่างไรโมเดลนี้ยังเป็นเพียงตุ๊กตายังต้องหารือกับทางผู้ประกอบการเพื่อให้เป็นไปในทางเดียวกัน” นายคมน์กล่าว