โทษกักตุนสินค้า 2 เด้งถึงคุก พาณิชย์ผนึกมหาดไทยเข้มตรวจสต๊อก

อ่วมแน่ “กักตุนสินค้า” เจอ 2 เด้ง พาณิชย์บูรณาการมหาดไทยบังคับใช้ กม.ราคาสินค้าควบสำรวจกักตุนโทษแรงถึงคุก ช่วยประชาชนมีสินค้าพอใช้ ส.ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับมาตรการตรวจสต๊อก หวังรัฐช่วยเอกชนผลิตขายได้ตามกลไกตลาด

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินมาตรการดูแลปัญหาการกักตุนสินค้า โดยใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 คู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และจะมีการตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ประจำท้องที่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดเข้าร่วมทีม

“สถานการณ์แบบนี้รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีทุกฉบับอย่างเข้มข้นป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานถือเป็นการบูรณาการมากที่สุดที่เคยมีมา ไม่ใช่การแย่งงานแต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีขอบเขตและมีจุดที่เสริมกัน เช่นว่าเมื่อเกิดการกักตุนขึ้น กฎหมายสำรวจการกักตุนจะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่กว้างขวางมากกว่า โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกหมายเรียก ตรวจค้นเคหสถาน ยึดหรือสั่งให้ขายสินค้า ส่วน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จะเน้นการห้ามไม่ให้ปฏิเสธหรือประวิงเวลาจำหน่ายสินค้า ไม่สามารถเข้าไปค้นเคหสถานได้หากพบผู้กระทำผิดที่กักตุนต่อจากนี้ต้องระวังโทษทั้ง 2 กฎหมายเลย โดยเฉพาะโทษกฎหมายสำรวจการกักตุนจะมีความรุนแรง เพราะเป็นกฎหมายอาญา โทษทั้งปรับ และถึงขั้นจำคุก”

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ไม่กระทำผิดแน่นอน ยังสามารถผลิตและสต๊อกสินค้าตามปกติ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงมหาดไทยเพื่อดูแลปัญหาการกักตุนสินค้าไม่มีผลต่อทิศทางราคาหรือปริมาณการขายสินค้าของผู้ประกอบการแต่อย่างไร เป็นเพียงมาตรการที่ออกมาเพิ่มความเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาการกักตุนสินค้าให้ผู้บริโภคมีสินค้าเพียงพอในช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เท่านั้น คู่ขนานไปกับคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ดำเนินมาตรการใดที่บิดเบือนกลไกราคา และผู้ผลิตยังสามารถผลิตและขายได้ก็ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการสำรวจฯจะมีมาตรการเพิ่มความถี่ในการตรวจสต๊อกบ่อยขึ้น หรือกำหนดปริมาณสต๊อกก็ยังสามารถตรวจสอบได้ เอกชนไม่มีปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม หวังว่ารัฐบาลจะอำนวยความสะดวกเรื่องการนำเข้าและส่งออก กระบวนการโลจิสติกส์ ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถนำเข้าวัตถุดิบ และผลิตสินค้าสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากเกษตรกรซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็ว หรือหากมีการนำเข้าผ่านด่าน มีระบบตรวจสอบแบบเดียวกันไม่ล่าช้า เชื่อว่าสินค้าไม่ขาด และต้นทุนการผลิตจะไม่เพิ่มขึ้น ราคาก็เป็นไปอย่างปกติ

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวว่า หากกฎหมายนี้ไม่มีการบังคับให้ผลิตหรือสต๊อกก็ไม่กระทบ เพราะจะมีผลเชื่อมโยงต่อเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายควรช่วยผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือช่วยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยสำหรับสต๊อกสินค้า และหาตลาดรองรับสินค้าที่ผลิตเกินความต้องการ