เฮ! เกษตรฯ เทงบ 1.8 พันล้าน อุ้มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 3 เดือน ฟื้นวิกฤตโควิด-19

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าของบรัฐบาล กว่า 1.8 พันล้าน อนุมัติโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง 63 ช่วยเกษตรกร 4,590 คน ตั้งแต่ พค.- กค.63 หวังช่วยดันอุตสาหกรรมกุ้งทะเลให้ฟื้นจากวิกฤต COVID – 19

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จนทำให้หลายประเทศมีการประกาศปิดพรหมแดน ทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้าต้องหยุดชะงักได้รับผลกระทบตลอดสายการผลิต ซึ่งภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ได้แก่ กุ้งแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 และมีมูลค่าการส่งออกรวมธุรกิจต่อเนื่องไม่น้อยกว่าแสนล้านบาทก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ประกอบกับประเทศผู้นำเข้ากุ้งทะเลจากประเทศไทยรายใหญ่ 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 28 ญี่ปุ่น ร้อยละ 25 และสาธารณรัฐประชาชนจีน ร้อยละ 19 เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบและมีความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาดนี้

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ตระหนักถึงปัญหาที่อาจส่งกระทบวงกว้างสู่ทุกส่วนในภาคอุตสาหกรรมกุ้งทะเล ตลอดจนคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย จึงได้มีมติในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้กรมประมงดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมกุ้งทะเลจากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID – 19 ให้สามารถรักษาฐานการผลิตกุ้งทะเลและอาชีพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้คงได้อย่างมั่นคง และรักษาเสถียรภาพราคากุ้งทะเลให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล เป็นการช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ผลิตลูกพันธุ์ ผู้ค้าปัจจัยการผลิต ห้องเย็น โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและผู้ส่งออก

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งปี 2563 ตั้งเป้าหมาย ปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลที่ห้องเย็นรับซื้อจากเกษตรกร 45,900 ตัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 15,300 ตัน ประกอบด้วย กุ้งแวนนาไม 45,000 ตัน เฉลี่ยเดือนละ 15,000 ตัน และกุ้งกุลาดำ 900 ตัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 300 ตัน จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 4,590 คน และจำนวนห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 20 โรง ดำเนินงานในจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และมีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563

“ในการดำเนินการครั้งนี้จะขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลโดยเร่งด่วน วงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าชดเชยส่วนต่างด้านราคาซื้อขายกับราคาเป้าหมายนำตลาด ค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในกุ้งทะเล ค่าบริหารจัดการโครงการฯ” นายอลงกรณ์กล่าว