“อธิบดีหน้ากากอนามัย” คัมแบ็ก

ใกล้ครบกำหนดวันหยุดพักร้อนของอธิบดีกรมการค้าภายใน “วิชัย โภชนกิจ” แล้ว (วันที่ 24 เมษายน 2563) หลังจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ สั่ง “ระงับใบลาออก” ของอธิบดีที่เป็นผลจากความน้อยใจในคำสั่งเด้งกลางอากาศให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 ด้วยปมร้อน “การบริหารจัดการหน้ากากอนามัย” บกพร่อง เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่โรงงานผลิตทั้ง 9 แห่งผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น นำมาสู่ปัญหาขาดแคลน กักตุนโก่งราคาจนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนหน้ากากอนามัย

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จึงเข้ามาดูแล กำหนดให้ “หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม” และตั้ง “คณะทำงานบริหารจัดการหน้ากากอนามัย” ทำหน้าที่จัดสรรหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ไปยังประชาชน ประกาศห้ามการส่งออก กำหนดราคาควบคุมชิ้นละ 2.50 บาท

โดยก่อนจัดสรรหน้ากาก กรมได้เรียกผู้ผลิตเข้าร่วมประชุม 9 ราย ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้รับรายงานว่า มีหน้ากากเพียงพอต่อความต้องการ โดยมีสต๊อก 100 ล้านชิ้น เพียงพอรองรับความต้องการ 4 เดือน จะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนผู้นำเข้าก็มีการเร่งนำเข้าเพิ่มขึ้น เป็นการหารือร่วมผู้ประกอบการ 9 ราย แต่ไม่นานกรมได้สรรหาผู้ผลิตได้เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 11 โรงงาน

และมีรายงานว่า “สต๊อกหน้ากากอนามัยประมาณ 200 ล้านชิ้น” เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ 3-4 เดือนอย่างแน่นอน แต่กลับสวนทางความเป็นจริง เมื่อประชาชนเริ่มหาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ สถานพยาบาลเริ่มขาดแคลน เป็นการตอกย้ำว่า หน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นหายไปไหน กระทั่งมีกระแสข่าวการกักตุนหน้ากากอนามัยโดยคนสนิทนักการเมืองฝั่งพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันก็มีข่าวโต้กลับทันทีว่า มีบุคคลใกล้ชิดรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น โดยมีข้าราชการ “ช่วย”

หลังจากนั้น มีการชี้แจงโดยโรงงานเอกชนว่า สต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นนั้นเป็นเพียง “สต๊อกวัตถุดิบ” เท่านั้น ยังไม่ได้ผลิตออกมาแต่อย่างใด และหากจะผลิตให้ได้ถึง 200 ล้านชิ้น คงต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน “เป็นไปได้ยากมากถึงมากที่สุด” จากที่รัฐออกมาตรการควบคุมเข้มงวดมาก และยิ่งส่งออกยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในภาวะปกติเมื่อปี 2562 ไทยส่งออกหน้ากากทั้งปีได้แค่ 100 ล้านชิ้นเท่านั้น

กระแสความขัดแย้งปลายต่อ เมื่อ “กรมศุลกากร” ออกมาย้ำว่า 2 เดือนแรกปี 2563 ไทยส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน หรือคิดเป็น 82.5 ล้านชิ้น ซึ่งแม้จะออกมาชี้แจงภายหลังว่าเป็นพิกัดส่งออกรวมสินค้าอื่นด้วย แต่ก็ไม่เป็นผล ถึงขั้นที่ “นายวิชัย” ตอบโต้ด้วยการแจ้งความดำเนินคดี “โฆษกกรมศุลกากร” ฐานเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้กรมการค้าภายในเสียชื่อเสียง (แม้ภายหลังจากยื่นลาออกกรมฯจะถอนแจ้งความไปแล้ว) แต่ปมนี้ก็ยังอยู่ในความสนใจประชาชน

กระบวนการตรวจสอบการทุจริตกักตุนหน้ากากอนามัยเกิดขึ้นภายหลังจากการลาออก โดย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งแต่งตั้ง “นายสุพพัต อ่องแสงคุณ” รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยร่วมกับกรรมการ ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ตำรวจ, กฤษฎีกา, คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฯลฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคม ซึ่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงมือ “ปลัดกระทรวงพาณิชย์” แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

เบื้องต้นการตรวจสอบไม่ได้พุ่งเป้าว่า ใครคือผู้ที่กระทำความผิด แต่เน้นเรื่องช่องโหว่การบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ส่วนจะเอาผิดหรือไม่เอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ก็สามารถพิจารณาจากเจตนาการกระทำและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ประมาท เลินเล่อ จนทำให้เกิดช่องโหว่ หรือมีผลประโยชน์ร่วมกันกับโรงงานหรือไม่ คงต้องลุ้นต่อไปว่ากระทรวงพาณิชย์จะตอบสังคมต่อประเด็นนี้อย่างไร