กม.แข่งขันใหม่อำนาจล้นฟ้า หวั่น “ควบรวมกิจการ” สะดุด

ดีเดย์ 5 ตุลา กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่บังคับใช้ หลัง 18 ปีไร้ผล ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญา-TDRI แนะเพิ่มระบบถ่วงดุล กรรมการแข่งขันอำนาจล้นฟ้ากึ่งตุลาการ คุมรัฐวิสาหกิจเจ้าตลาด เสี่ยงปมผลประโยชน์ทับซ้อน ธุรกิจหวั่น “แผนควบรวมกิจการ” สะดุด เอกชน-สภาอุตฯชี้ แข่งราคาลำบาก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้แทน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้มานาน 18 ปี มีคำร้องเรียน 101 เคส แต่ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่มีพฤติกรรมที่ทำให้การแข่งขันทางการค้าไม่ เป็นธรรมได้แม้แต่รายเดียว โดยหลังจากนี้กรมการค้าภายใน ต้องยกร่างอนุบัญญัติ (กฎหมายลูก) อีก 81 ฉบับภายใน 270 วัน ตามบทเฉพาะกาลกฎหมายใหม่ ขณะเดียวกันเตรียมแยกสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้เป็นอิสระจาก ปัจจุบันสังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ก่อนเริ่มกระบวนการสรรหาคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าในเดือนกรกฎาคม 2561

ส.อ.ท.-SCG ชี้เอกชนอยู่ยาก

นาย รัฐไกร ลิ้มศิริตระกูล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าฝ่ายการลงทุนและธุรกรรมระหว่างประเทศ บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความระมัดระวัง เพราะยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องการตีความพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งทางปฏิบัติบางพฤติกรรมไม่ได้มีจุดตัดสินชัดเจนว่าดีหรือไม่ดี ประเด็นนี้ทำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตัวได้ยาก เช่น จะตั้งราคาสูงหรือต่ำ หรือเท่ากันก็ไม่ได้ จะกลายเป็นการฮั้วกันอีก เป็นต้น

นอกจากนี้ ตัวอย่างหลายประเทศที่ใช้กฎหมายนี้สะท้อนว่ามีปัจจัยอื่น เช่น นโยบายรัฐ การพัฒนาเทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายนี้ เช่น รัฐบาลอินโดนีเซีย อนุญาตให้ธุรกิจที่ขอควบรวมกับต่างชาติทั้งหมด เพราะต้องการเงินลงทุน ญี่ปุ่นมีการตั้งกองทุนขึ้น เพื่อซื้อคืนเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่จะถูกขายพร้อมการควบรวมธุรกิจ หรือสหรัฐไม่อนุญาตให้จีนเข้าไปซื้อบริษัทน้ำมันยูโนแคล เป็นต้น

“การปรับเรื่องคณะกรรมการดีขึ้นอาจมีการประชุมบ่อยมากขึ้นก็จริง แต่การจำกัดคุณสมบัติของคณะกรรมการอย่างละเอียดไม่ให้มาจากสาขาธุรกิจหรือ อาชีพใดเข้าร่วมเป็นกรรมการได้ ทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเอกชนโดยตรง กลับกลายเป็นจะเหลือเพียงข้าราชการเกษียณที่ต้องมาทำงานบังคับใช้กฎหมายที่ มีความสำคัญมาก ๆ”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ เปิดให้เอกชนขอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดได้ แต่มีค่าธรรมเนียมการขอคำวินิจฉัย ครั้งละ 50,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตควบรวมครั้งละ 250,000 บาท ภาคเอกชนมองว่า อาจต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมเพื่อขอคำวินิจฉัยว่าพฤติกรรมผิดกติกาหรือไม่ เพราะกรรมการมีอำนาจสุ่มตรวจสอบได้ หากพบพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเรียน

หวั่นควบรวมสะดุด

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากผู้ประกอบการควบรวมกัน ต้องประเมินว่า ควบรวมแล้วมีผลให้มีอำนาจเหนือตลาด หรือผูกขาดตลาดหรือไม่ หากไม่มีผลให้แจ้งคณะกรรมการแข่งขันใน 7 วันนับแต่วันที่ควบรวม แต่หากควบรวมแล้วมีผลทำให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดต้องขออนุญาตคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จุดนี้ผู้ประกอบการคงสงสัยว่าตัวเองอยู่ตรงไหน และต้องแจ้งหรือขออนุญาต จึงต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนให้กับภาคธุรกิจว่า พฤติกรรมใดเข้าข่ายแค่แจ้งหรือต้องขออนุญาต ไม่เช่นนั้นเอกชนจะประเมินตัวเองไม่ได้แน่นอน

TDRI แนะถ่วงดุลอำนาจล้นฟ้า

ดร.เดือน เด่นกล่าวต่อไปว่า การปรับปรุงกฎหมายมีหลายด้านที่ดีขึ้น แต่มีประเด็นที่น่าห่วง ซึ่งต้องรอการกำหนดอนุบัญญัติหรือแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน ต้องระวังเรื่องความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการแข่งขันทางการ ค้า ที่มีความเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศ กรรมการแข่งขันทางการค้าทำตัวเหมือนศาล มีข้อกำหนดพฤติกรรมว่า แต่ละคนจะติดต่อกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร ไม่สามารถพบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบสองต่อสองได้ โทร.คุยได้หรือไม่ และควรมีการเปิดเผยรายละเอียดหลังจบคดี เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ

นาย ดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาล ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เห็นว่า ควรกำหนดจรรยาบรรณและจริยธรรมในวิชาชีพ และต้องมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพราะกรรมการ 7 คนน้อยกว่าผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่มี 9 คน

แต่รับบทหนักมากในการกลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจเป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” ต้องรับผิดชอบทั้งสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดี สั่งปรับ “กรรมการเป็นกึ่งตุลาการ” จึงต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ แต่กฎหมายห้ามไม่ให้กรรมการเป็นนักธุรกิจ-ข้าราชการ-สมาคมการค้า คงมีแต่ข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วจะเข้ามารับตำแหน่งมีอำนาจเกี่ยวข้อง กับผลประโยชน์มหาศาล เสี่ยงต่อผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดี การกักขัง ขอปล่อยตัวชั่วคราว การประกันตัวจะดำเนินการอย่างไร

ลุ้นปล่อยผีรัฐวิสาหกิจบางกลุ่ม

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ได้ดึง “รัฐวิสาหกิจ” เข้ามาดูแลด้วย จากเดิมไทยเป็นประเทศเดียวที่ยกเว้นไม่คุมรัฐวิสาหกิจแบบยกแผง อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่มีข้อยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามกฎหมาย/มติ ครม. หรือกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันอยู่แล้ว เช่น พลังงาน คมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่จำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นให้ชัดว่าเป็น “รัฐวิสาหกิจกลุ่มใด” หรือ “พฤติกรรมแบบใด” ที่ได้รับยกเว้น