ไทยเสี่ยงขาดน้ำ2หมื่นล้านลบ.ม. แม้เข้าสู่ฤดูฝน กรมชลเตือน23จังหวัดระวังน้ำท่วม

กรมชลประทานคาดความต้องการน้ำทะลุ 3 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่น้ำต้นทุนมี 1.1 หมื่นล้าน ลบ.ม. เข้าหน้าฝนเตรียมแผนรับน้ำหลาก พร้อมเปิดจุดเสี่ยงพื้นที่น้ำท่วมฉับพลันทั่วประเทศ 23 จังหวัดอาจเจอน้ำท่วมปีนี้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า มาตรการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2563 เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ มีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝน 2563 และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ปี 2563/64 หรือระหว่าง 1 พ.ย.2563-30 เม.ย.2564 ภายใต้ความต้องการใช้น้ำทั่วประเทศ 31,351.15 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำต้นทุนประมาณ 11,654 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันที่ 1 พ.ค.2563) ด้วยข้อจำกัดนี้ ส่งผลให้กรมชลประทาน ต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อความต้องการของทุกภาคส่วนภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีจำกัด

ทั้งนี้ การจัดสรรน้ำฤดูฝนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ตามแผนการจัดสรรน้ำ ภายใต้น้ำต้นทุนประมาณ 11,975 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันที่ 23 เม.ย.2563) แบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,980 ล้าน ลบ.ม. หรือ 25% ของน้ำต้นทุน รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ จำนวน 3,654 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30% ของน้ำต้นทุน น้ำเพื่อทำการเกษตร จำนวน 4,974 ล้าน ลบ.ม. หรือ 42% ของปริมาณน้ำต้นทุน และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 367 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 3% ของน้ำต้นทุน

จากสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้บริหารจัดการให้สถานการณ์ความรุนแรงทุเลาลง อาทิ เมื่อปี 2562 คาดว่าจะมีพื้นที่ประสบภัยแล้งประมาณ 58 จังหวัด แต่กรมชลประทานใช้การบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทำให้ทั้งปีมีพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งลดลงเหลือ 29 แห่ง ส่วนพื้นที่มีฝนตกหนัก มีการคาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมขังอยู่ประมาณ 5 วัน กรมชลประทานก็เร่งดำเนินการให้มีน้ำท่วมขังเหลือเพียง 1 วัน ทั้งหมดคือการบริหารจัดการน้ำ เพื่อทุเลาภัยประจำถิ่นที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องที่ไม่ให้เกิดท่วม หรือแล้งที่รุนแรง และเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค

“จากความต้องการน้ำที่สูงถึง 31,351.15 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่น้ำต้นทุนเหลือเพียง11,654 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานจึงแนะนำให้เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา เพาะปลูกได้ก็ต่อเมื่อมีฝนตกและมั่นใจว่าจะตกต่อเนื่อง ไม่ทำให้พืชเกษตร หรือข้าวเสียหาย เพราะกรมชลประทานให้ทำนาปีด้วยน้ำฝน เนื่องจากน้ำต้นทุนที่มียังจำกัด”

นายทองเปลวกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในช่วงฤดูฝน กรมชลประทานมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำต้นทุนให้เพียงพอ กับความต้องการตามภารกิจแล้ว จากนี้ต้องเตรียมมาตรการรับมือพื้นที่เสี่ยงจากอุทกภัยน้ำหลาก ปี 2563 หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 ซึ่งทั่วประเทศ จะมีบางพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และมีบางพื้นที่จะมีฝนตกหนัก จนอาจเกิดน้ำท่วม โดยเดือนพ.ค.-ก.ค.พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางพื้นที่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ตอนกลาง มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าปกติ และระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค. ฝนจะทิ้งช่วงโดยเฉพาะพื้นที่ แล้งซ้ำซาก เดือนส.ค.-ต.ค.พื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกต่ำกว่าปกติ แต่ช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.ระวังอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก

ขณะที่พื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.ใน 3 จังหวัดอาจมีน้ำล้นตลิ่ง คือ จันทบุรี เลย และศรีสะเกษ เดือน ก.ค. 23 จังหวัด อาจเกิดน้ำท่วมและน้ำหลากใน 8 จังหวัด คือ นครนายก เลย ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา และชุมพร ในเดือน ส.ค.อาจเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก ใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี สตูล

ส่วนเดือนก.ย.คาดมีน้ำล้นตลิ่ง ใน 21 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ พิษณุโลก ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ จันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก พิจิตร ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี สตูล และเดือนต.ค. มีพื้นที่เสี่ยงจะมีน้ำล้นตลิ่ง จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ พระนครศรีอยุธยา ระยอง ปราจีนบุรี ลำพูน ตาก ลำปาง เลย ร้อยเอ็ด นครราชสีมา กำแพงเพชร และอุบลราชธานี