ชาวไร่ฮือค้านกม.มันสำปะหลัง ย้อนยุคก๊อบระบบอ้อยแบ่งปันผลประโยชน์

แฟ้มภาพ

ส.ชาวไร่มันสำปะหลังยื่นร้องสภาขอเลื่อนพิจารณาร่าง พรบ.แบ่งปันผลประโยชน์ หลังภูมิใจไทยเสนอบรรจุวาระ 1 ในประชุมสภาสมัยสามัญ พ.ค.นี้ ชี้ยังรับฟังความเห็นไม่รอบด้าน หวั่นเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม เตรียมเดินหน้าเข้าชื่อเกษตรกร 20,000 รายชื่อ ปัดฝุ่นใช้ “พ.ร.บ.มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง พ.ศ. ….” เดิม อ้างได้รับเสียงสนับสนุนจากเกษตรกรกว่า 80%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าในการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 ที่ได้กำหนด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าทางพรรคภูมิใจไทยจะเสนอร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง พ.ศ. …. บรรจุเข้าที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ด้วย

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้เลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง พ.ศ. …. (ตามกราฟิก) ออกไปก่อน โดยต้องการให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

ในหลาย ๆ ประเด็น เพราะที่ผ่านมาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ทางพรรคภูมิใจไทยยกร่างขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 แต่ยังไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น หรือมีหนังสือสอบถามเกษตรกรผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างไร มีเพียงการแจ้งกับทางหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ ทางสมาคมพร้อมด้วย 4 สมาคมมันสำปะหลัง (สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้เคยแสดงความไม่เห็นด้วยแล้ว เพราะมีข้อกังวลในหลาย ๆ ประเด็นว่า หากมีการรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปแล้ว อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางสมาคมกังวลว่าจะเกิดปัญหา ประกอบด้วย

1.เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านการขายหัวมันสำปะหลัง เพราะพ่อค้าเป็นคนกำหนดราคาแต่ข้างเดียว

2.จะทำให้ราคามันสำปะหลังตกต่ำ เพราะไม่เกิดการแข่งขันการตลาด จะกำหนดการขายล่วงหน้าแย่งตลาดแบบราคาต่ำ ๆ

3.ร่าง พ.ร.บ.การแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง พ.ศ. …. โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งขัดต่อ WTO (องค์การการค้าโลก) เนื่องจากได้ห้ามไม่ให้มีคณะกรรมการที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจะเป็นการแทรกแซงระบบ และอาจจะถูกฟ้องร้องได้ จากตัวอย่างเรื่องของอ้อยและน้ำตาล

4.เกษตรกรจะไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดเหมือนปัจจุบัน จะมีแต่เพียงราชการกับพ่อค้าเป็นใหญ่

5.ชาวไร่มันสำปะหลังอาจจะถูกลิดรอนเสรีภาพในการเรียกร้องด้านความเป็นธรรมการตลาดและราคา

6.จะไม่เกิดการพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังให้ก้าวหน้าและไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

7.จะสูญเสียการตลาดการค้ามันสำปะหลังในตลาดโลกไป เพราะต้นทุนเราสูงกว่าในหลายประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับต้น ๆ ของโลก

8.จะทำให้เกษตรกรต้องเลิกปลูกมันสำปะหลังไป เพราะราคาตกต่ำ และต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินมากมายไม่คุ้มทุน จะเป็นการทำลายอาชีพปลูกมันสำปะหลังมากกว่าจะพัฒนา และอีกปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกมากมายจะตามมา รวมไปถึงเรื่องของการจัดตั้งกองทุน

นายรังษีกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ 20,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง พ.ศ. …. ฉบับเดิมกลับเข้าสู่ที่ประชุมสภาอีกครั้ง

โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สมาคมร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำมานานกว่า5 ปี ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 ครั้งทั่วประเทศ มีเกษตรกรกว่า 80% ของเกษตรกรทั้งหมดเห็นด้วย และผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยนั้น แต่ก็มาเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ สนช.ยุบไปตามรัฐบาล และได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทำหน้าที่แทน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีก

“เป้าหมายที่จัดทำร่าง พ.ร.บ.มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง พ.ศ. …. นั้น เพื่อให้มีกฎหมายรองรับและช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะราคามันสำปะหลังตกต่ำ เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายมันสำปะหลัง แต่มีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร เป็นตัวแทนในคณะกรรมการดังกล่าวในการพิจารณานโยบายออกมาเพื่อดูแลเกษตรกรและราคาสินค้ามันสำปะหลังตกต่ำ ดังนั้น การมีกฎหมายขึ้นมาก็ควรที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลประโยชน์ต่อประเทศและเกษตรกร”