“ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” รวมใจช่วยโควิด แนะ “เปิดประเทศช้า..แต่ชัวร์”

สัมภาษณ์

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศกำลังพุ่งขึ้นสูงสุด กลุ่มบริษัทมิตรผล-บ้านปู ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุน “มิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19” โดยมีวงเงินตั้งต้นอยู่ที่ 500 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเปรียบเสมือนทัพหน้าที่ต้องสู้กับไวรัส ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด ในทางกลับกันการควบคุมการระบาดได้ช่วยสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาประกอบธุรกิจตามปกติได้อีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ของประเทศ

กองทุนมิตรผล-บ้านปู

ตั้งชื่อเรียกว่า กองทุน แต่จริง ๆ ก็เป็นเงินจากบริษัท เราไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปแบบกองทุน แต่เป็นชื่อของโครงการที่เราใช้สำหรับไปให้ความช่วยเหลือเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยตอนที่เกิดกองทุนนี้ขึ้นมา เรามีการคุยกันระหว่างผู้บริหารทั้ง 2 บริษัท ตอนนั้นทางมิตรผลซึ่งมีบริษัทในเครืออยู่ที่จีน และบ้านปูก็ไปช่วยกันหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กำลังขาดแคลน สุดท้ายก็ไปซื้อชุด PPE จากจีน จำนวน 20,000 ชุด ขนส่งเข้ามาทางอากาศ รวมถึงหน้ากากแบบ N95 ช่วงแรกยังหาซื้อไม่ได้ แต่เมื่อมีการจัดหาเข้ามาก็กระจายแจกจ่ายไป

นอกจากนี้ เรายังให้ความช่วยเหลือในรูปของอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ และห้องปฏิบัติการ ที่ทำให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพิ่งส่งมอบไปเมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อให้การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเฉพาะ ห้องผู้ป่วยความดันลบ(negative pressure) แบบแยกห้อง ป้องกันการแพร่กระจายโรคสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ต้องทำห้องใหม่เลย ซึ่งการสร้างห้องหนึ่งห้องต้องใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท

สถานะของกองทุนตอนนี้ใช้เงินไปแล้ว 250 ล้านบาท ส่วนที่ว่ากองทุนจะเพิ่มวงเงินอีกหรือไม่นั้น ตอนนี้เรากำลังเข้าไปดูระยะต่อจากที่ควบคุมการระบาดได้แล้ว คงต้องไปดูเรื่องปากท้อง-อาชีพ หรือเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เราเข้าไปช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน บังเอิญว่าบ้านปูทำช่วยต่างจังหวัดอยู่แล้วจึงมีคอนเน็กชั่นเป็น ครู อนามัยหมู่บ้าน อย่างตอนน้ำท่วมปี 2554 เราไปช่วยกู้ภัยก่อน ตามมาด้วยการช่วยฟื้นฟูอาชีพและพัฒนา จึงทำให้เห็นว่ากระบวนการช่วยเหลือต้องใช้เวลานาน ทางมิตรผลก็มีจุดแข็งอยู่ที่การมีโรงงานน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นเน็ตเวิร์กที่จะเข้าไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือหลังโควิด

“หมอกับพยาบาลได้กำลังใจเยอะมาก ยกตัวอย่าง เช่น ตอนที่เค้าขอความช่วยเหลือในการสร้างห้องความดันลบที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เราตัดสินใจให้คำตอบในวันรุ่งขึ้นทันที เพราะเราต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ถ้าเกิดขึ้นช้าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปเป็น 10,000 คน ประเทศก็จะแย่”

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดนี้เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ผมก็พยายามจะพูดกับรัฐบาลว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาเรื่องความอยู่รอดของประชาชน ที่ประเทศไทยสถานะดีกว่าประเทศอื่นนิดหน่อยก็คือ หนี้สินของประเทศต่อ GDP รวมถึงในส่วนของภาคเอกชนมันน้อย ฉะนั้น เรายังมีกำลังจะใส่เข้าไปได้อีก โดยเฉพาะงบฯ 1 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลก็กลัวนะว่า ถ้าเกิดการระบาดรอบ 2 ขึ้นมาอีก แล้วต้องล็อกดาวน์ต่อรัฐบาลจะต้องอัดงบฯลงไปอีก ซึ่งจะทำให้หนี้สินขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่เศรษฐกิจเค้าแย่มา 3-4 ปีแล้ว หนี้ประเทศเหล่านั้นสูงอยู่แล้ว

ถ้าต้องใส่เงินลงไปช่วยเยอะ ๆ ประเทศก็จะแย่ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การระบาดรอบ 2 ไม่น่าเกิดขึ้นนะ ดังนั้น การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศก็คงค่อย ๆ ฟื้นขึ้น แต่หลาย ๆ ธุรกิจ เช่น สายการบิน หลายสายการบินประกาศเลิกจ้างพนักงาน ทีนี้ปัญหาก็คือ คนที่ถูกเลิกจ้างจะให้ไปทำอะไรต่อไป

แนวทางเสริมความมั่นใจเอกชน

ผมเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ ท่านนายกฯได้เรียกกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่เข้าไปหารือ ในส่วนของกลุ่มเราไม่ได้คิดจะทำอะไรใหญ่ ๆ เราแค่อยากจุดประกาย อย่างการตั้งกองทุน 500 ล้านบาท ก็อยากให้ตัวเลขมีอิมแพ็กต์ เราออกมาทำเป็นคนแรก ๆ ผมมั่นใจว่าเราประกาศออกไป คนเชื่อว่ามิตรผล-บ้านปูทำจริง อย่างที่ทำให้ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ไปแล้ว 30 ล้านบาท หรือมิตรผลช่วยโรงพยาบาลราชวิถี 15 ล้านบาท

ส่วนโอกาสที่จะคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 นั้น ดูเหมือนเริ่มจะคลายล็อกดาวน์แล้ว เพราะมีการประกาศว่า จีนกับเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่อยู่นอกบัญชีแล้ว สามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่เรายังคงขยายระยะเวลาในการปิดสนามบินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งอันนี้ผมมองว่า ดี อาจจะไม่เหมือนที่ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ มองว่าต้องรีบเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เอาจริง ๆ ผมกลัวมาก เพราะถ้าเข้ามาเยอะ ๆ แล้วเอาไม่อยู่ อย่างตอนแรกที่ให้แรงงานจากเกาหลีใต้เข้ามาเราก็ไม่รู้เลยว่ามีจำนวนแรงงานไทยในเกาหลีใต้ 200,000 คน ในจำนวนนี้เข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย 120,000 คน ตรงนี้น่ากลัวมาก และประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ เราอย่างก็ยังมีผู้ติดเชื้อสูง

“จากนี้คงต้องดูว่ามันมีการระบาดรอบ 2 หรือไม่ ในรอบแรกจากที่เราได้ลงไปช่วย ผมมองว่าน่าจะมีความพร้อมอยู่ค่อนข้างมาก ถึงอย่างไรผมเห็นว่าเราควรเปิดช้าแต่ชัวร์ เห็นมีการพูด ๆ กัน อาจจะไปถึงเดือนตุลาคม แต่แม้รัฐบาลเปิดประเทศจริงๆ ลองนึกดูจะมีคนกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะกล้าบินไปมา แล้วให้นั่งเครื่องบินที่นั่งเว้นที่นั่ง เพื่อรักษาระยะห่างกันเป็นเมตร ๆ ค่าโดยสารเครื่องบินต้องขยับขึ้นไปมากขนาดไหน”

แผนบริหารจัดการความเสี่ยง

ในส่วนของเรายังลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่ตกลงคอมมิตไปก่อนหน้านี้ แต่เราก็มองเรื่องของการถือครองเงินสดเหมือนกัน ทุกคนถ้ามีการถือครองเงินสดอยู่ ก็คงต้องเก็บเอาไว้ในสถานการณ์อย่างนี้ ผมได้ยินว่า นักเศรษฐศาสตร์ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแบงก์ถูกถามว่า แล้วสิ้นปีนี้เศรษฐกิจจะติดลบสักกี่เปอร์เซ็นต์ เค้าตอบว่า 5-10% ซึ่งผมก็มองติดลบเหมือนกัน มาถึงวันนี้เหตุการณ์ที่มอง ๆ กันว่า มันเลวร้าย ก็เริ่มจะดูออกแล้ว แต่ผลกระทบที่กำลังจะไปถึงบริษัทต่าง ๆ ยังคงต้องรออีกหลายเดือนจะเห็นชัดมากขึ้น อย่างเราก็ไม่ได้สบาย ทั้งมิตรผลและบ้านปูก็ต้องหาทางทำอย่างไรให้รอดผ่านช่วงวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

ช่วยเอสเอ็มอีปรับตัวลดเสี่ยง

ตอนนี้เอสเอ็มอีบางรายอาจจะดีกว่าบริษัทใหญ่ (หัวเราะ) แนวทางลดความเสี่ยงนั้นผมช่วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนทำศูนย์ CDCE เพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ทำมา 5 ปีแล้ว รุ่นนี้รุ่นที่ 5 พอประกาศปลายปี มาต้นปีเริ่มทำฝึกอบรม 7 วัน เรามีที่ปรึกษาเป็น CEO และนักการตลาดเก่าอยู่ 49 คน ให้ที่ปรึกษารับเป็นพี่เลี้ยงบริษัทละ 2 คน โครงการระยะเวลา 1 ปี เท่าที่เกิดโควิดก็มาคุยกันว่า ควรจะหยุดไว้ก่อนไหม เรามีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการอยู่ 23 บริษัท ซึ่งทางฝั่งที่ปรึกษาบอกว่า จะไม่หยุด ให้เดินต่อ ส่วนการช่วยบริษัทอาการสาหัส เห็นรัฐบาลออกแพ็กเกจใหม่ ๆ มาตลอด อย่างเงินกู้ 1 แสนล้าน ไปช่วยเยียวยาผู้พิการและอีกหลาย ๆ กลุ่ม