“สุริยะ” โต้กลุ่มค้านแบน 3 สาร อย.ปลดล็อกพืชพาราควอต

“สุริยะ” พร้อมหอบเอกสารโต้กลับกลุ่มค้านแบนพาราควอต หลังสมาพันธ์เกษตรฯขอศาลเร่งรับคำร้องชี้รัฐ 2 มาตรฐาน จะปล่อยให้เอกชนนำเข้าวัตถุดิบ แต่ไม่ปลดล็อกให้เกษตรกร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รับทราบที่ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และบริษัทเอกชนฟ้องตนข้อหาที่เห็นชอบให้มีมติการแบนสารเคมีอันตราย จากการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งตนยอมรับว่าต่อให้มติที่ประชุมจะออกมาว่าแบนหรือไม่แบน ตนก็โดนฟ้องอยู่ดี ศาลเรียกให้ไปชี้แจง ตนยืนยันที่จะดำเนินตามคำสั่ง และแน่นอนว่าตน รวมถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีข้อมูลชี้แจงศาลครบถ้วนและชัดเจน มีกระบวนการและมติการแบนที่ถูกต้องตามข่าว

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ขอให้ศาลปกครองกลางรับคำร้องเร่งรัดพิจารณาและมีคำสั่งคำร้องคุ้มครองชั่วคราวในการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้แบนสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ตามที่ยื่นคำร้องไปตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. ว่า ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวที่กำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เป็นผลให้ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามนำผ่าน ห้ามส่งออก และห้ามครอบครอง มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เกษตรกรไม่สามารถใช้พาราควอตได้ หากใช้ก็ผิดกฎหมายมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาทโทษสูงกว่าการค้าเฮโรอีน และนำสินค้าไปคืนร้านค้า แต่ก็ไม่ได้เงินคืน เพราะร้านค้าก็ไม่มีเงินมาคืนให้

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จัดหาสารทดแทนและวิธีการจัดการที่เหมาะสม สร้างความเสียหายต่ออาชีพเกษตรกรทั่วประเทศที่ยังต้องใช้พาราควอต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช และคลอร์ไพริฟอสเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับเตรียมสภาพพื้นดินเพาะปลูกช่วงเข้าสู่ฤดูฝน การยื่นคำร้องครั้งนี้หวังว่าศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้ฟ้องคดีและเกษตรกรอีกนับล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างมีการเลิกจ้างงานจำนวนมากสร้างความเสียหายให้ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ผู้บริโภค 1.7 ล้านล้านบาทจำเป็นต้องให้ศาลเห็นความเดือดร้อนจากการประกาศนี้ ซึ่งตอนนี้ควรชะลอไปพลางก่อน เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องสารทดแทน”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระหว่างนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจะมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบที่มีการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีถึงปีหน้า แล้วหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดการแก้ไขปัญหา 2 มาตรฐาน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย.เห็นตรงกันเรื่อง ความปลอดภัยในการผลิตอาหารของผู้บริโภค ดังนั้น แนวทางกำกับดูแลจะต้องสอดคล้องกับความปลอดภัย เบื้องต้นทาง อย.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่?) พ.ศ. … ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) จนถึงวันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งในระหว่างนี้ทางภาคเอกชนยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ตามประกาศเดิมซึ่งมีความปลอดภัยในระดับที่เข้มงวดกว่าที่ Codex กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่หลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานศึกษาวิธีควบคุมกำหนดให้สอดคล้องกับระเบียบใหม่