กกร.ขึ้นบัญชีคุม “กากDDGS” รง.อาหารสัตว์โวยมัดตราสัง

กกร.ขึ้นบัญชีควบคุมกาก DDGS จ่อออกมาตรการ 8 ก.ค.นี้ “พรศิลป์” โอดมาตรการรัฐมัดตราสังอาหารสัตว์ ทั้งปิดประตูนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก บังคับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ต่อ 1 ราคาสูงกว่า8 บาท/กก. แถมคุมราคาขายปลีกอาหารสัตว์ หวั่น 50 โรงงานหมดทางออก ขึ้นราคาไม่ได้ จ่อปิดกิจการ ลามกระทบปศุสัตว์

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่30 มิ.ย.ได้พิจารณากำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุมปี 2563 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการปี 2542 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 5/2563 ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 ให้ปรับเพิ่มสินค้า “กาก DDGS” เป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนมากขึ้น

กระทั่งสมาคมการค้าพืชไร่ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ขอให้คำนึงถึงผลกระทบจากการนำเข้า DDGS ต่อราคาข้าวโพดที่เกษตรกรจะได้รับ เสถียรภาพของตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตในประเทศโดยหลังจากนี้ นายจุรินทร์มีกำหนดจะประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เพื่อกำหนดมาตรการดูแล DDGS พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์การผลิตข้าวโพดปี 2563/2564 ในวันที่ 8 ก.ค. 2563 นี้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการขึ้นบัญชีควบคุมสินค้า DDGS ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ถือเป็นหนึ่งในมาตรการจะส่งผลกระทบซ้ำเติมโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ 50 โรงงานจากก่อนหน้านี้โรงงานก็ประสบปัญหาด้านวัตถุดิบ ทั้งจากการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประกาศห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรซึ่งมีส่วนผสมของสารเคมีทางการเกษตรพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ เพราะแหล่งผลิตต่าง ๆ ยังมีการใช้สารเคมีดังกล่าวในการปลูก ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กำหนดให้มีกลไกยกระดับราคาข้าวโพด โดยให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อข้าวโพดจากภายในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลีมาได้1 ส่วน โดยขอความร่วมมือให้ซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 8 บาท ซึ่งเท่ากับว่าตอนนี้ได้ถูกควบคุมการใช้วัตถุดิบทั้งหมดแล้ว

ขณะที่ผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ได้ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ขยับขึ้น เพราะถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งจัดสินค้านี้ให้อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม อีกทั้งเมื่อเกษตรกรประสบปัญหาราคาปศุสัตว์ หรือสินค้าประมงตกต่ำ เช่น กุ้ง หรือไข่ ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ก็ยังมาขอให้ช่วยลดราคาจำหน่ายอาหารสัตว์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีก และเมื่อทางโรงงานอาหารสัตว์ขอให้รัฐพิจารณาลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% กลับไม่ได้รับการพิจารณา

“ตอนนี้กลุ่มอาหารสัตว์เหมือนถูกมัดตราสัง จะใช้วัตถุดิบในประเทศไม่พอข้าวโพดผลิตได้ปีละ 5 ล้านตัน ต้องการใช้ปีละ 8-9 ล้านตัน โรงงานต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นที่มีราคาถูกทดแทน ทั้งข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือ DDGS พอนำเข้ามาก็ถูกคุม ข้าวสาลีถูกคุมด้วยมาตรการ3 ต่อ 1 ให้ซื้อข้าวโพดภายใน 3 ส่วนถึงจะนำเข้าได้ 1 ส่วน และให้ซื้อราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 8 บาทอีก ตอนนี้เราซื้อ กก.ละ 9 บาทกว่าแล้ว พ่อค้าและเกษตรกรได้ราคา รัฐก็ได้ประโยชน์เพราะไม่ต้องจ่ายชดเชยประกันรายได้ให้เกษตรกรเราช่วยรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาประกันรายได้ กก.ละ 8.50 บาท เรานำเข้า DDGSต้นทุนภาษีก็สูงถึง 9% จะขึ้นราคาขายปลายทางไม่ได้ถูกควบคุมอีก อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหากับสินค้าไข่ กุ้งราคาตกก็มาขอให้เราช่วยลดราคา ซึ่งขอให้ช่วยลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ก็ไม่ให้เพราะโรงสกัดไม่ยอม สุดท้ายเราคงต้องยกธุรกิจให้พวกเขาไป หรือจะให้ปิดโรงงานไปเลยไหม”

สำหรับแนวโน้มสินค้าอาหารสัตว์ในปีนี้จะยังคงรักษากำลังการผลิตที่ 20 ล้านตันอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2% เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดปศุสัตว์ของโลกได้รับผลกระทบมากสหรัฐซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการปิดโรงงาน ทำให้ประเทศที่ต้องการสินค้าดังกล่าวต้องหันมาสั่งซื้อจากไทย แต่นั่นไม่ใช่เพราะไทยมีความสามารถแข่งขันดีขึ้นเพราะเป็นปัจจัยชั่วคราว ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ลดลง ก็ส่งผลต่อสินค้าอาหารสัตว์ด้วย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าห่วงว่าหลังจากการใช้มาตรการดูแลการนำเข้า แต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ยังไม่ได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการปลูกยังอยู่ที่ปีละ 5 ล้านตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ต่อการใช้ และยังมีปัญหาเรื่องการรุกป่าและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอีก