ผวาสุญญากาศปรับ ครม. ธุรกิจลุ้นทีมเศรษฐกิจใหม่-ตั้งวอร์รูมกู้วิกฤต

การเมืองร้อนฉ่า ธุรกิจไทย-เทศระทึก หวั่นสุญญากาศการเมืองถล่มซ้ำวิกฤตโควิด “บิ๊กตู่” เรียกถกด่วนทีมที่ปรึกษาทั้งหอการค้า-สภาอุตฯ-ส.ธนาคารไทย-ตลาดทุน ผุดวอร์รูม “ศบศ.” กู้วิกฤตเศรษฐกิจ เอกชนหวั่นการเมืองทุบซ้ำลุ้นทีม ศก.ใหม่ “เสี่ยบุญชัย” ไม่อยากให้เปลี่ยนม้ากลางศึก

สถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นต่อเนื่อง จากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลเขม็งเกลียวยิ่งขึ้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศเริ่มต้นการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังจากกลุ่มรัฐมนตรี 4 กุมารประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ขณะที่ภาคเอกชนพากันจับตาและเกาะติดสถานการณ์ด้วยความวิตกกังวลเพราะรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 จะถูกซ้ำเติมโดยการเมืองที่อยู่ในช่วงสุญญากาศ ผลพวงจากความขัดแย้ง และการปรับ ครม.ยังไม่แน่นอนชัดเจน

โควตากลาง 6 ตำแหน่ง

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะต้องปรับระบบ “โควตากลาง” ซึ่งเป็นทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านต่างประเทศ ประกอบด้วย 1.รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) 2.รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) 3.รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) 4.รมว.มหาดไทย (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) 5.รมว.การต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) 6.รมว.กลาโหม (พล.อ.ประยุทธ์) และ 7.รมช.กลาโหม (พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล)

ว่าที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลวิเคราะห์ว่า นายกฯได้ทาบทามทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เพื่อเข้าไปเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แทนทีมของนายสมคิด หรือทีมรัฐมนตรี 4 กุมาร บุคคล่ในโผประกอบด้วย 1.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 2.นายปิติ ตัณฑเกษม 3.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร 4.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ 5.นายปรีดี ดาวฉาย 6.นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล

โควตากลาง “ป๋าโมเดล”

แหล่งข่าวยังได้วิเคราะห์ถึงแนวทางการปรับ ครม. ประยุทธ์ 2/2 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่อง “กลไกการเมือง” ด้วยว่า จะเป็นการใช้แนวทางที่เรียกว่า “ป๋าโมเดล” คือ การบริหารเศรษฐกิจ-ความมั่นคง ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการตัดโควตาจากพรรคร่วมรัฐบาล มาเป็นโควตากลางของนายกฯ เหลือเท่าไรจึงให้พรรคร่วมนำไปบริหาร จะทำให้นายกฯและรัฐมนตรีที่มาจาก “คนนอก” ปลอดจากการถูกกดดันทางการเมือง

“บิ๊กตู่” เรียกถกที่ปรึกษาเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกประชุมด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทีมที่ปรึกษานายกฯ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ หลังหน่วยงานต่าง ๆ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 7.7% จนถึงลบ 8.1%

ผุดวอร์รูม “ศบศ.” ประกบ ศบค.

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นที่ประชุมเห็นพ้องกันตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ศบศ.ขึ้น โดยนายกฯจะเป็นหัวหน้าศูนย์ มีตัวแทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม เพื่อเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 คล้ายศูนย์ ศบค.

“ผมได้เรียนท่านเรื่องการเมืองไม่นิ่ง ทำให้ข้าราชการไม่รู้จะไปทิศทางใด และมีการถามย้ำถึงเรื่องการปรับ ครม. ให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่เคยบอกว่าจะไม่ปรับ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะปรับเมื่อไร อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมั่นใจว่าการเดินหน้าเศรษฐกิจจะยังดำเนินการต่อไปได้ เพราะนายกฯเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลอยู่แล้ว เอกชนหวังว่าจะแก้ปัญหาให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ลดคอสต์ และให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน”

SMEs ขอพักหนี้

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสมาพันธ์ SME ไทย ส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า มีข้อเสนอให้พิจารณาเรื่องกองทุนเพิ่มสภาพคล่องเอสเอ็มอี หากเป็นไปได้ควรเป็นกองทุนถาวร และเน้นให้แก้ไขปัญหากลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบางก่อน ซึ่งจะหมายถึงเอสเอ็มอีประมาณ 1 ล้านราย ที่ขณะนี้ประสบปัญหาสภาพคล่อง ต้องขอพักชำระหนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท มูลค่าหนี้คิดเป็น 40% ของวงเงินที่ยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

“กองทุน 5 หมื่นล้านบาทที่ สสว.เสนอเข้า ครม.เศรษฐกิจพิจารณานั้น เอกชนยังห่วงเรื่องหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ โดยเฉพาะที่กำหนดว่าเอสเอ็มอีจะขอกู้ได้ก็ต่อเมื่อต้องไม่เป็นหนี้มาก่อน ถ้ากำหนดเงื่อนไขแบบนี้ทุกคนตกเกณฑ์หมด และเรื่องการให้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้ต้องพูดกันให้ชัดว่าค้ำประกันได้ 100% เลยหรือไม่ เพราะปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันก็เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพร้อมให้ขยายมาตรการพักชำระหนี้ พักต้น-พักดอกออกไปถึงสิ้นปี เนื่องจากจะหมดอายุ 1-2 เดือนนี้”

ให้โฟกัสการฟื้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า เห็นด้วยที่มีการตั้ง ศบศ.ขึ้นมา เพราะขณะนี้รัฐบาลควรโฟกัสเรื่องการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อนที่ปัญหาจะรุนแรงกว่านี้ หวังว่า ศบศ.จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมการบูรณาระหว่างรัฐบาลและเอกชน คล้ายกับที่ ศบค.เป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างรัฐและบุคลากรทางการแพทย์ วาระเร่งด่วนที่เสนอให้ ศบศ.ดูแลเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและลดต้นทุนผู้ประกอบการ ดูแลปัญหา

“ระหว่างนี้ ศบศ.ก็มุ่งแก้ปัญหาตามที่ภาคเอกชนเสนอก่อน โฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ ปรับตามข้อมูล ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะมีการปรับทีม ครม. ในส่วนที่ดูแลเศรษฐกิจหรือไม่ก็เชื่อว่าการทำงานจะยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ ส่วนจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 8% นั้น ทาง กกร.ต้องมาประเมินอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องดูทิศทางเศรษฐกิจโลกควบคู่กันไปด้วย”

ไม่อยากให้เปลี่ยนม้ากลางศึก

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวกับการลาออกจากสมาชิกพรรคของแกนนำกลุ่ม 4 กุมาร ในความคิดส่วนตัวมองว่า ถ้าหากนายกรัฐมนตรียังให้ทำหน้าที่บริหารงานในทีมเศรษฐกิจเหมือนเดิม เนื่องจากทีมบริหารทั้ง 4 คน ไม่มีจุดด้อยหรือผิดพลาดตรงไหน ผมคิดว่าดี เพราะไม่อยากให้เปลี่ยนม้ากลางศึก แต่ในทางกลับกัน นายกรัฐมนตรีอาจจะปรับเปลี่ยนทีม หรือไม่เปลี่ยน ก็ยังไม่มีใครรู้ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเอานักการเมืองที่ไม่มีประสบการณ์มาทำงานแทน จะทำให้ความเชื่อมั่นหายไป เว้นแต่ว่าจะให้คนนอกที่มีคนยอมรับ แต่ต้องไม่ใช่นักการเมืองก็ค่อยว่ากัน ตอนนี้ยังไม่รู้จะเป็นใคร ก็ได้ยินข่าวว่า ยังไม่มีใครกล้ารับ เพราะไม่อยากให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง

“ทำดีก็ถูกลด ถูกกดดันให้ออก แต่ถ้านายกฯหาคนดี ๆ มาได้ ก็ถือว่าดี แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดในตอนนี้ มองว่าปัญหาของรัฐมนตรีกลุ่มเดิม หรือทีมเศรษฐกิจตอนนี้ มีปัญหาอะไร โดยจะต้องจี้และแก้ให้ถูกจุด ซึ่งตอนนี้นายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทนนายสมคิด ตอนนี้ก็ตัดสินใจว่าจะย้ายออก หรือจะให้รักษาอยู่ หรือจะเอาคนอื่นเข้ามาแทน ซึ่งหากคนอื่นเข้ามาทำงานแทนก็ยังน่าเป็นห่วง”

อีกทั้งเมื่อความเคลื่อนไหวของการเมืองยังเป็นเช่นนี้จะส่งผลกับภาวะเศรษฐกิจ ด้านความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะการเมืองบ้านเราค่อนข้างกดดันจากการเปลี่ยนผู้บริหาร ไม่ค่อยดี ต่างประเทศคงไม่ชอบ รวมถึงประชาชนที่รู้เรื่องก็คงไม่ชอบเช่นกัน ผมก็รู้สึกกังวลใจเหมือนกันว่า คนใหม่จะเข้ามาแก้ไขได้อย่างไร เมื่อทีมเศรษฐกิจเดิมก็ตั้งใจปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ซึ่งมองว่าไม่ควรจะไปปลดหรือปรับเปลี่ยน

ท่องเที่ยวยัน “ช่วยตัวเอง”

ด้านนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า โจทย์ใหญ่รัฐบาลขณะนี้คือ การพยุงเศรษฐกิจให้ได้โดยเร็ว เพราะปัญหาการเมืองขณะนี้จะมาซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจหนักขึ้นอีก โดยเฉพาะในภาคอุตฯท่องเที่ยว เครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายด้านการคลัง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่ในภาคปฏิบัติแล้วยังไม่ถือว่าเข้าถึงและช่วยสนับสนุนภาคเอกชนมากนัก หากรัฐบาลสะดุดเกิดเกียร์ว่าง 1-2 เดือน จะยิ่งกระทบหนัก

“สำหรับกลุ่มของเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ค่อยมีความกังวลนักว่ารัฐบาลจัดทัพใหม่ จะเปลี่ยนรัฐมนตรี ใครจะไป ใครจะมา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด” นายชัยรัตน์กล่าว

ห่วงความต่อเนื่อง

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ ในฐานะรองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลเรื่องความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายบริหารเศรษฐกิจของประเทศ แต่คงจะไม่แตกต่างไปมาก เพราะนายกฯยังเป็นคนเดิม ซึ่งอาจต่างในเชิงวิธีการทำให้นโยบายไปสู่ความสำเร็จ คงไม่มีผลรุนแรงต่อธุรกิจโดยภาพรวม เพราะภาคธุรกิจเองก็คุ้นเคยและสามารถปรับตัวกันได้อยู่แล้วในแง่ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมองว่า ขึ้นอยู่กับผู้ที่เข้ามาบริหารนโยบาย ซึ่งนายกฯเองต้องมองคนที่มีศักยภาพในการเข้ามาบริหาร เพราะฉะนั้นในเชิงเซนติเมนต์ไม่น่าจะมีอะไรที่รุนแรง ซึ่งต้องมั่นใจว่านายกฯมองออกว่า ใครจะเหมาะสมกับเก้าอี้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง

ทีม ศก.ต้องเรียกความเชื่อมั่นได้

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด และในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การปรับ ครม.จะกระทบการดูแลเศรษฐกิจแน่ ๆ เพราะเป็นการเปลี่ยนตัวบุคคล แต่มีผลไม่มาก เพราะเชื่อว่าการดูแลเศรษฐกิจทำงานเป็นทีม โดยมีนายกฯเสมือนเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และมองว่านโยบายส่วนใหญ่คงไม่ทิ้งจากกรอบเดิมมากนัก อาจมีแนวทางหรือวิธีการที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปบ้าง แต่ผลลัพธ์จะเหมือนกันคือ ต้องเยียวยาและฟื้นฟูเพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่ตามมาคือต้องสร้างงานให้มากที่สุด

“สำหรับผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ถ้าได้คนที่เป็นงานอยู่แล้วก็ดี และถ้าเกิดประกาศชื่อออกมาสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจและสังคมให้ยอมรับได้ก็จะยิ่งดีมาก โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่บริหารเศรษฐกิจ ต้องไม่ใช่คนที่ทุกคนต้องมานั่งสงสัยว่าทำงานเป็นหรือเปล่า เพราะต่อไปอาจจะเหนื่อย”

หนุนตั้งกระดานหุ้น SMEs

ทั้งนี้ตลาดทุนไทยได้เสนอแนวทาง 2 ส่วน คือ 1.การจัดตั้งกระดานหุ้นเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำลังหารือออกกฎเกณฑ์ทั้งการระดมทุน เบื้องต้นจะเลือกเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเป็นกลุ่มแรก และอาจให้เฉพาะนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก เพื่อจัดการความเสี่ยงได้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถือโอกาสปรับโครงสร้างทางการเงินของเอสเอ็มอี และทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในการระดมทุนได้ จากเดิมที่จะเน้นใช้แหล่งทุนของตัวเอง หรือการกู้แบงก์”

2.เสนอให้รัฐบาลปักธงให้ตลาดทุนไทยเป็น “ศูนย์กลางตลาดทุนของภูมิภาค” เหมือนโครงการ EEC ในภาคตลาดทุน ซึ่งอาจต้องแก้กฎหมายหลายส่วนล้อไปกับตลาดโลก แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้คือ ต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจไทยถูกลง

จี้ใช้ 5G ปรับบริการภาครัฐ

ด้านนายสแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าต่างประเทศ ประจำประเทศไทย ให้ความคิดเห็นสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ว่า ในสายตาของธุรกิจต่างชาติยังคงรอความชัดเจนจากรัฐบาล เนื่องจากการปรับ ครม.เป็นอำนาจของนายกฯ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงความขัดแย้งภายในพรรคการเมือง แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ ส่วนข้อเสนอแนะด้านนโยบาย ประธานหอการค้าต่างประเทศระบุว่า สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญคือ การปรับตัวรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงแบบ “นิวนอร์มอล” ทั้งในแง่การใช้ชีวิต การทำงาน และการเดินทางของผู้คน

จุดเน้นคือนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง 5 จี (5G) เข้ามามีบทบาทในการปรับปรุงระบบราชการ และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดคล้องความเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องการออกกฎระเบียบรองรับการใช้งาน “ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์” เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ไทยเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติได้ท่ามกลางวิกฤตปัจจุบัน

ห่วงสรรหาผู้ว่า ธปท.คนใหม่

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า นอกจากภาคธุรกิจเอกชนต้องการความต่อเนื่องของนโยบายบริหารเศรษฐกิจประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนแล้ว ประเด็นสำคัญตอนนี้อยู่ที่ผู้จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ เพราะมีบทบาทความรับผิดชอบสูงและเป็นผู้ควบคุมนโยบายการเงินของประเทศ

“ถ้าเศรษฐกิจอเมริกาหรือยุโรปไม่ดี ขณะที่ไทยกลับมาแข็งแรงเป็นประเทศแรก ๆ เราน่าจะมีปัญหาเรื่องการเงินในเร็ว ๆ นี้ หากค่าเงินบาทแข็งจะกระทบการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกอาหารที่เป็นโอกาสของไทย จึงเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่ต้องดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน” นายพรนริศกล่าว