เปิดสูตรปรับ ครม. ประยุทธ์ 2/2 สับเปลี่ยน “คนใน-คนนอก” ไม่มีคนสีเทา

เปิดสูตรปรับ ครม. ประยุทธ์ 2/2 สับเปลี่ยน “คนใน-คนนอก” ไม่มีคนสีเทา จาก 20 พรรค 275 เสียง

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามวันเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศ กำหนดให้มีขึ้นหลังสภาผู้แทนราษฎร โหวตผ่านวาระ 2-3 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน เสียก่อน

และกระบวนการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่แบ่งเป็น ก้อนแรก 6 แสนล้าน เพื่อการเยียวยาผู้เดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 และเพื่อการสาธารณสุข ส่วนอีก 4 แสนล้านเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับพื้นที่

ตามกำหนดการ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 ขณะนี้ผ่านการลงมติวาระแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (วิสามัญ) จำนวน 72 คน

ไทม์ไลน์-การปรับ ครม. จึงเป็นไปตามที่ นายกรัฐมนตรีปักหมุดไว้ คือ “ไม่นาน-ขอผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ก่อน รวมทั้งแผนการใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน”

หากยึดตามวัน-เวลา ดังกล่าว คู่ขนานกับการพิจารณาของสภาผู้แทน ตามรัฐธรรมนูญกำหนดคือ เมื่อรัฐบาลส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ถึงสภาฯ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน

กรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 รัฐบาลส่งสภาฯ เมื่อวันวันที่ 16 มิถุนายน 2564 จะครบ 105 วัน ในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2563

จากนั้นวุฒิสมาสภา มีเวลาพิจาณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน (หรือน้อยกว่านี้ก็ได้) นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.มาถึงวุฒิสภา (กรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 วุฒิสภาใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 วัน)

กรณีงบประมาณ 2564 หากวุฒิสภาใช้เวลาเต็มพิจารณาเต็มตามวันเวลาที่กำหนด จะสามารถส่ง พ.ร.บ.คืนสภาผู้แทนราษฎร ภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2563

อย่างช้าที่สุด ที่การปรับ ครม. จะเกิดขึ้นได้คือภายในกลางเดือน ตุลาคม 2563 อย่างเร็วที่สุดคือ สิ้นเดือนกันยายน 2563

สูตรการปรับ ครม. และคุณสมบัติของรัฐมนตรี เป็นไปตามคำประกาศิตของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุไว้ต่างกรรมต่างวาระ สรุปได้ดังนี้

  • มีการสับเปลี่ยนกำลัง “คนใน” โควต้าระบบพรรค
  • ต้องมี “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. (นายกรัฐมนตรีกำลังเจรจา)
  • ต้องมีคนที่ไว้ใจใน “โควต้ากลาง” ของนายกรัฐมนตรี
  • คนที่มีชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจ
  • โควต้าพรรคร่วม กระทรวง “สำคัญ” นายกรัฐมนตรีขอสิทธิตัดเลือกเอง
  • คนสีเทาไม่เอา
  • โควต้าพรรคร่วมเท่าเดิม

ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์รัฐมนตรี 4 กุมารถูกขับออกจากกรรมการบริหารพรรค และต้องลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทำให้บุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีในระบบ “โควต้ากลาง” ต่างออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า “สู้ไม่ไหว การเมืองในรัฐบาลแรง”

สำหรับโควต้ารัฐมนตรี 36 คน รวมนายกรัฐมนตรี จาก 6 พรรค 251 เสียง ขณะนี้ประกอบด้วย

  1. พรรคพลังประชารัฐ 18 คน จาก ส.ส. 118 เสียง
  2. พรรคภูมิใจไทย 7 คน จาก ส.ส. 61 เสียง
  3. พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน จาก ส.ส. 52 เสียง
  4. พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน จาก ส.ส. 12 เสียง
  5. พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน จาก ส.ส. 5 เสียง
  6. พรรคชาติพัฒนา 1 คน จาก ส.ส. 4 เสียง

รวมพรรคเล็ก-แปรพรรค เช่น เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง ,พรรคพลังท้องถิ่นไทย 5 เสียง, พรรคจิ๋ว 11 เสียง ,พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

รวมเสียงล้นตลิ่ง-ฝ่ายรัฐบาล 275 เสียง (ไม่รวมเลือกตั้งซ่อม จ.ลำปาง) จาก 20 พรรค

รวมงูเห่าจากพรรคเพื่อไทย 2 เสียง และงูเห่าจากพรรคประชาชาติ 1 เสียง

สูตรใหม่-ของตำแหน่งรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 2/2” กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่มีรัฐมนตรี “กลุ่ม 4 กุมาร” คาดว่านายกรัฐมนตรี จะมี “โควต้ากลาง” อย่างน้อย 7 ตำแหน่ง คือ

  1. รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
  2. รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง
  3. รองนายกรัฐมนตรีด้านกฏหมาย
  4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  7. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

สูตรคำนวณ จะตั้งต้นจาก ขั้นที่หนึ่ง รัฐมนตรี 35 คน ลบโควต้ากลาง 7 คน เหลือ 28 คน

ขั้นที่สอง พรรคแกนนำ พปชร. และ ภูมิใจไทย,ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา พิจารณาจำนวนรัฐมนตรี ตามโควต้า

ขั้นที่สาม พรรคขนาดเล็ก ที่มี ส.ส. 4-5 เสียง จำนวน 4 พรรค พิจารณา ส่วนที่เหลือ

ขั้นที่สี่ พรรคย่อยที่มี ส.ส. 2 เสียง และพรรคจิ๋ว 11 เสียง ถ้ามีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

แน่นอนที่สุดว่า รัฐบาล “ประยุทธ์ 2/2” จะอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ ต้องมีกลไกของ “3ทหารเสือ” คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา,และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ 1 ทหารเสือพลเรือน ที่ขาดไม่ได้ คือ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ก่อการเปิดประตูให้ 3 ทหารเสือ ขึ้นสู่บัลลังก์ทางการเมือง

โควต้าและสูตร ครม.ประยุทธ์ 2/2 จึงต้องผสมผสานระหว่าง จำนวนเสียง ของ ส.ส. และคอนเนกชั่นธุรกิจ รวมทั้งแทดแทนบุญคุณทางการเมือง ภายใต้ความเห็นชอบของอำมาตย์ใหญ่ ที่เป็นเงาอยู่เหนือรัฐบาล