“ส.อ.ท.” ช่วย SMEs สอนทำการตลาดในจีน เปิดรับ 9,999 คน 4 หลักสูตรฟรี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและสมาชิก ส.อ.ท. ให้เข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนในประเทศจีน จึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU Signing Ceremony) ระหว่าง สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ โดย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยหวังว่าความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดจีน

นายวีรชัย มั่นสินธร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน จัดตั้งขึ้นเพื่อสานความสัมพันธ์และดำเนินกิจกรรมด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน เพราะจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย และหนึ่งในพันธกิจของสถาบันฯ คือการสนับสนุนความร่วมมือและส่งเสริมนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ให้เข้าใจถึงสภาพสังคม ภาษา และวัฒนธรรมของประเทศจีน

จึงมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ โดยในขั้นแรกได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตร CHINA : CONNECT เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้นำสินค้าเข้าไปขายยังประเทศจีนด้วย Cross Border E-commerce ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการถ่ายทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้

นางสาววีฤทัย มณีนุชเนตร ประธานสถาบันส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวว่า นอกจากนี้สถาบันฯ จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการจัดทำโครงการเรียนออนไลน์ฟรีสำหรับประชาชนทั่วไป 4 หลักสูตร รับสมัครหลักสูตรละ 9,999 คน

ได้แก่ 1.หลักสูตรภาษาจีนเพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน 2.หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3.หลักสูตรการใช้การใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น 4.ทักษะวิชาชีพด้านการตัดเย็บเบื้องต้นชั้นสูง (Haute Couture) ในรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดเพศและวัย ผู้เรียนสามารถเรียนทบทวนได้ด้วยตนเองที่บ้าน

รูปแบบการสอนภาษาจีนจะเน้นการใช้ชีวิตประจำวัน ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน โดยคณาจารย์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐและภาคประชาชน เป็นจำนวนมากกว่า 89,991,000 บาท

คาดว่าจะช่วยพัฒนาให้ผู้ประกอบการธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ให้มีโอกาสก้าวไปในเวทีเศรษฐกิจโลก สร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะ ให้สามารถปรับตัวด้านการเจรจาธุรกิจเชื่อมโยงการค้าต่อไป