ผู้ว่าใหม่อัพเกรด กยท.สู้โควิด ชี้เทรนด์ ‘ยาง’ ขาขึ้นออร์เดอร์มาราคาพุ่ง

โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ตลาดยางคึกคัก จีน-อเมริกาหันออร์เดอร์ “ณกรณ์” ผู้ว่าการการยางฯคนใหม่ ชี้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสยกเครื่องเกษตรกรแปรรูปสินค้านวัตกรรมเพิ่มมูลค่า เน้นกระตุ้นใช้ยางในประเทศ ลดพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ลุยประกันรายได้เฟส 2

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ราคายางขณะนี้เริ่มกลับมาเป็นบวก เนื่องจากประเทศจีนเริ่มเปิดตลาด ซึ่งหากเทียบราคายางได้รับปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และปริมาณยางเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้สต๊อกยางภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ยอดส่งออกรถยนต์ และยอดการผลิตรถยนต์ชะลอตัวลง แต่ภาคการผลิต อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางล้อของประเทศคู่ค้า ได้แก่ สหรัฐ และจีน เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ส่วนในไทยมีความต้องการน้ำยางสดขยายตัวจากการผลิตและส่งออกถุงมือยาง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อราคายาง จึงคาดว่าราคายางนับจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป มีโอกาสปรับตัว

สูงขึ้น ล่าสุดราคากลางเปิดตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมา กก.ละ 43.99 บาท โดยปิดตลาดสูงสุด 3 ตลาดกลาง สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ราคา กก.ละ 44.19 บาท

ส่วนปัญหาผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากทำให้การส่งออกชะลออย่างที่ทุกคนทราบแล้ว และล่าสุดมีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ซึ่งมองได้ 2 ส่วน คือ ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มผ่อนปรน 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งจะต้องมี organizational quarantine คือให้หน่วยงาน หรือบริษัทจัดพื้นที่สำหรับการกักตัวคนกลุ่มนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง เข้ามาตรวจเพื่อให้เกิดมาตรฐานอยู่แล้ว อีกมุมแม้ก่อนหน้านี้มีขาดแคลนแรงงานกรีดยางบ้างบางพื้นที่ แต่ช่วงโควิดกลับพบจำนวนแรงงานกลับถิ่นฐาน กลับมาทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และบางพื้นที่ต้องการแรงงานจำนวนมากด้วยซ้ำเพราะคนตกงาน จึงมารับจ้างกรีดยางรายวันพยุงรายได้ จึงไม่ขาดแคลนมากนัก

“ในฐานะที่ได้รับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กยท.นอกจากจะมุ่งเน้นขับเคลื่อนให้สอดรับนโยบายรัฐบาล อาทิ สนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ โดยนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐให้มากที่สุด รวมทั้งผลักดันตลาดกลางยางพารา เชื่อมโดยโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล อยู่ระหว่างพัฒนาให้ จ. ระยอง ที่ถือเป็นจุดภูมิศาสตร์ที่มีความเข้มแข็ง เป็นศูนย์กลางตลาดยางที่สามารถเชื่อมโยงถึงเกษตรกร และโรงงานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่กระจายตัวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนายางพาราในภาคตะวันออก ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ยางพาราชาติ เรื่องการยกระดับและ

สร้างเสถียรภาพให้กับราคายาง หวังว่าวิกฤตโควิด-19 จะเป็นโอกาสพัฒนาปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยใช้นวัตกรรมแปรรูปสินค้าจากยางพารา ลดการพึ่งพาการส่งออกต่างประเทศ”

อย่างไรก็ดี กยท.ยังเดินหน้ายกระดับรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ระยะเวลา 5 เดือน หรือตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2563 วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง 1.8 ล้านราย ซึ่งจำนวนเกษตรกรมีจำนวนมาก จากที่ลงทะเบียนโครงการประกันรอบที่ 1 มี 1.7 ล้านคน รัฐบาลอนุมัติให้ชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิให้เข้าร่วมโครงการได้ จึงมีการลงทะเบียนเพิ่ม ขณะนี้อยู่ระหว่าง ครม.พิจารณา โดยจะช่วยเหลือส่วนต่างราคายางพารา รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดราคาอ้างอิง 6 เดือนย้อนหลัง โดยกำหนดราคาประกันยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม, น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาทต่อกิโลกรัม แบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างเจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40% ของเงินที่ได้รับจากการชดเชย หรือประกันรายได้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

“ประกันรายได้เฟส 2 อยู่ระหว่างเสนอ ซึ่งเรามีข้อมูลพร้อม แม้ล่าสุดมีเกษตรกรเข้ารับฟังแนวทางการผลักดันราคายาง เเละเสนอผมช่วงไปลงพื้นที่นครศรีธรรมราช โดยให้รับซื้อยางแผ่นสูงกว่าราคาน้ำยาง เพราะยางแผ่นราคาสูงกว่ายางแผ่นรมควัน อยู่ที่ 44 บาท/กก. ตลาดโลกเริ่มดีขึ้น จีนเริ่มเปิดโรงงาน นั้นต้องหารือและเดินไปด้วยกัน แต่ถึงอย่างไรการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ทำให้มองว่าเราต้องปรับองค์กรให้เน้นสินค้าแปรรูป นวัตกรรม และใช้ยางในประเทศ เพื่อไม่ต้องพึ่งพาแค่ตลาดต่างประเทศเหมือนในอดีต ผมมีไอเดียว่าอยากให้ทุกคนในองค์กรใช้วิกฤตโควิดครั้งนี้เป็นโอกาส โควิดจะทำให้เราปรับ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และอาจเป็นจังหวะที่จะยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราของไทยด้วย”

อนึ่ง เดิมนายณกรณ์ เป็นรองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการสรรหาตามที่ได้ประกาศสมัครคัดเลือก ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และได้รับคะแนนสูงที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (14 ก.ค. 63) เห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กยท.คนที่ 2 ต่อจากนายธีธัช สุขสะอาด ที่ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันครบวาระ

ไปแล้ว และก่อนหน้านี้มีนายธนวรรธน์ พลวิชัย และนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ เป็นผู้รักษาการผู้ว่าการ กยท. 2 ปี (2561-2563)