GC เดินเครื่องบิ๊กโปรเจ็กต์ ‘โอเลฟิน-โพรพิลีนออกไซด์ โพลีออลส์’ 7 หมื่นล้าน

โปรเจ็กต์โอเลฟิน-โพรพิลีนออกไซด์ โพลีออลส์

GC เผย 2 บิ๊กซ์โปรเจ็กต์โอเลฟิน-โพรพิลีนออกไซด์ โพลีออลส์ มูลค่าลงทุน 7 หมื่นล้าน คืบหน้ากว่า 90% จ่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 4 /2563 หลังผลประกอบการไตรมาส 2 ยอดขายหด 26% จากสต๊อกลอต ตราสารอนุพันธ์ขาดทุน โควิดกระทบ US Petrochemical Complex เลื่อน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ว่า บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 69,271 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 26% จากไตรมาส 1/2563 และลดลง 35% จากไตรมาส 2/2562

โดยบริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ กำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง)ไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 1,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1,128 ล้านบาท

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

โดยมี Adjusted EBITDA ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 6,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาส 1/2563 แต่ลดลง 15% จากไตรมาส2/2562

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Loss Net Reversal of NRV) รวม 899 ล้านบาทรวมทั้งผลการขาดทุนตราสารอนุพันธ์ 340 ล้านบาท

และจากค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสจึงส่งผลให้บริษัทฯ มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,501 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 1,671 ล้านบาท (0.37 บาท/หุ้น) ปรับสูงขึ้น119% จาก ไตรมาส 1/2563

ทั้งนี้ Highlight ในไตรมาส 2/2563 ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมัน มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 102% โรงโอเลฟินส์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 100% โรงอะโรเมติกส์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 99%

“GC ออกหุ้นกู้สถาบัน 15,000 ล้านบาท ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้น GC อนุมัติวงเงิน 4 พันล้านเหรียญฯ เพื่อออกหุ้นกู้ ภายในระยะเวลา 5 ปี (2563-2567) เพื่อใช้ชำระคืนเงินกู้เดิม ลงทุนตามแผนการลงทุน และใช้ในการดำเนินกิจการทั่วไปของบริษัทฯ”

สำหรับความก้าวหน้าโครงการลงทุนในปี 2563 GC ขยายธุรกิจเพื่อต่อยอดโครงการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ EEC

โดยปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการหลักที่ตอบสนองนโยบาย New S-Curve ของภาครัฐ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เพื่อต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันและโพรพิลีน 250,000 ตัน ซึ่งการก่อสร้าง คืบหน้า 91% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2563 มูลค่า 36,000 ล้านบาท

ขณะที่ความคืบหน้าการก่อสร้าง โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (PO) และ โครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิต โพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 130,000 ตันต่อปี มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท คืบหน้าไปแล้ว 94 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เช่นกัน

โครงการร่วมลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง PA9T 13,000 ตัน/ปี และ HSBC 16,000 ตัน/ปี โดยบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด (KGC) มูลค่า 15,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2565 เพื่อขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเทเรฟเทเลท (Polyethylene Terephtalate: PET)ขยายการผลิต PET จาก 147,000 ตันต่อปี เป็น 200,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 โครงการ HMC PP Line Expansionกำลังการผลิต เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

โครงการพลาสติกรีไซเคิล เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง GC Circular Living โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว มาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการรีไซเคิล (Recycle) เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกคุณภาพสูงระดับ Food-Grade และ Packaging-Grade ร่วมมือกับพันธมิตร แอลพลา (ALPLA) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับโลก

โดยได้ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย มาบตาพุดจังหวัดระยอง เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET ขนาด 30,000 ตันต่อปี และ rHDPE ขนาด 15,000 ตันต่อปี จะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2563 และคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2565 มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท

โครงการศึกษาการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรรายใหม่แทน Daelim ที่ได้ถอนตัวไป โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็น Second Home Base ของบริษัทฯ

โครงการดังกล่าวมีความได้เปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันทางด้านวัตถุดิบ โดยมีแหล่งวัตถุดิบอีเทน (Ethane) ทำให้มีต้นทุนต่ำ คาดว่าจะได้ผลสรุปเพื่อตัดสินใจในการดำเนินโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ทั้งนี้ GC อยู่ในระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ของโครงการโดยละเอียด

ดร.คงกระพัน กล่าวว่า GC จัดเตรียมมาตรการสำคัญและปรับกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่โลกยังเผชิญวิกฤตโควิด-19 รวมถึงราคาน้ำมัน และสงครามทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัทฯ โดย GC ยึดหลัก4 มาตรการสำคัญ ทั้งด้านความปลอดภัยของพนักงาน การรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยยังคงกำลังการผลิตในทุกสายการผลิตเช่นเดิม

การช่วยเหลือชุมชนและสังคมโดยรวม GC นำผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมของบริษัทฯ มาใช้ในการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างสรรค์อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หน้ากากปกป้องใบหน้า หมวกสุญญากาศ ตู้โควิเคลียร์ หรือ ตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ หุ่นยนต์ช่วยทางการแพทย์ เป็นต้น และความชัดเจนในการสื่อสาร ความโปร่งใส และ การสร้างความเข้าใจให้ผู้มีส่วนได้เสีย

ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้ากลยุทธ์ 3 Steps เพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย Step Change ทำบ้านให้แข็งแรง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน, Step Out เติบโตนอกบ้าน และ Step Up เติบโตอย่างยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการทบทวนอย่างรอบคอบและปรับกลยุทธ์ในช่วงภาวะวิกฤตนี้

สำหรับการดำเนินตามกลยุทธ์ Step Change ทำบ้านให้แข็งแรง พัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เน้นการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เงินลงทุนไม่สูงมาก อาทิ การเข้าซื้อหุ้น ใน “Dynachisso Thai” บริษัทสัญชาติไต้หวัน เพื่อเดินหน้าธุรกิจพลาสติกวิศวกรรม พีพี คอมพาวด์ (PP Compound)

นอกจากนี้ ยังได้มีการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย โครงการ ORP สร้างแนฟทา แครกเกอร์ (Naphtha Cracker) โครงการโพรพิลีน ออกไซด์ และโครงการโพลีออลส์ ร่วมทุนกับบริษัทฯ ญี่ปุ่น

“แม้ว่าจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้กลยุทธ์การเติบโตนอกบ้าน โดยการลงทุนโครงการต่าง ๆ ถูกชะลอออกไปเพื่อใช้เวลาในการทบทวนให้เกิดความรอบคอบ รวมถึงโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ (US Petrochemical Complex) ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการเจรจาต่อรองค่าก่อสร้าง รวมถึงการหาพันธมิตรใหม่ ๆ”

นอกจากนี้ GC ยังมีแผน M&A กลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อต่อยอดโครงการธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น กลุ่มธุรกิจ High Performance Polymer & Composites และ Coating & Adhesives โดยอาศัยช่วงวิกฤตโควิด-19 ในการเจรจาเข้าซื้อในราคาที่เหมาะสม

และสุดท้าย Step Up ทาง GC ยกระดับความยั่งยืนในแผนธุรกิจหลัก โดยกำหนดกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% จากการดำเนินธุรกิจปกติ ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อตันผลิตภัณฑ์ 52% ภายในปี 2593