ธุรกิจอ่วมโควิดแห่ควบรวม บอร์ดแข่งขันจับตาผูกขาด ดีลซี.พี.-โลตัส จบต.ค.นี้

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

โควิดทุบธุรกิจ แห่ควบรวมกิจการ เสี่ยงผูกขาด “สกนธ์” ประธานบอร์ดแข่งขันชี้สัญญาณธุรกิจขออนุญาตรวมกิจการเพียบ ทั้งค้าปลีก-สายการบิน-อาหาร-อุตสาหกรรม พร้อมทำงานเชิงรุก ผนึกพันธมิตรวางฐานข้อมูลให้ทันสถานการณ์ ลั่นผลสรุปดีลซี.พี.-โลตัส จบทัน ต.ค.นี้ ก่อนกรรมการบอร์ดหมดวาระ

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แนวโน้มการควบรวมกิจการมีมากขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหลายธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีรายได้ลดลงมาก จนบางรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ต้องปิดขายกิจการ ซึ่งในอนาคตโครงสร้างเศรษฐกิจและภาคธุรกิจจะเปลี่ยนไป โดยธุรกิจบางประเภทจะมีจำนวนผู้ประกอบการในตลาดลดลงเหลือเฉพาะรายใหญ่ ๆ ทำให้การแข่งขันลดลงโดยอัตโนมัติ

ขณะนี้เริ่มเห็นชัดว่ามีผู้ประกอบการที่มาขอหารือและมายื่นคำขอตามมาตรา 51 การรวมธุรกิจ ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีทั้งแบบที่มาแจ้งเพื่อทราบหลังควบรวม และมาแจ้งเพื่อขออนุญาตบอร์ดอนุมัติให้ดำเนินการรวมธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีประมาณ 7-8 เคส หรือเฉลี่ยเดือนละ 1-2 เคส จากก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้มีจำนวนมากนัก และเทียบกับภาพรวมการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ มีเฉลี่ยเดือนละ 3-4 เคสโดยจะมีทั้งกลุ่มธุรกิจอาหาร บริการ เช่น ค้าปลีก สายการบิน และภาคอุตสาหกรรม

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ทั้งนี้ ตามกฎหมายมาตรา 51 กำหนดไว้ 2 กรณี คือ ผู้ประกอบการที่มีการควบรวมธุรกิจตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้อง “แจ้ง” ให้ กขค.ทราบถึงผลการรวมธุรกิจที่มี หากประเมินแล้วผลจากการรวมธุรกิจนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาด และเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะหากไม่แจ้งแล้วคณะกรรมการตรวจสอบพบภายหลังว่าการควบรวมนั้นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ราคาสินค้า หรืออาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด ก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายมาตรา 80 ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับอีกในอัตราไม่เกิน 10,000 บาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือกรณีที่ 2 หากควบรวมแล้วมีผลทำให้จำกัดการแข่งขัน หรือมีอำนาจเหนือตลาด จะต้องมา “ขออนุญาต”กับ กขค. หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 81 ปรับทางปกครองไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าดีลการควบรวมนั้น

4 ประเภทธุรกิจแห่ควบรวม

ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ประเภทธุรกิจที่มีการแจ้งควบรวมคือ ธุรกิจอาหาร ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นในลักษณะรายใหญ่ซื้อแบรนด์เล็ก ส่วนธุรกิจสายการบินก็มียื่นขอหารือมาถึงความเป็นไปได้ในการควบรวมซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับเรื่องเส้นทางบินแต่ภายหลังกลุ่มนี้ถอนเรื่องออกไป พอเจอโควิดมีการหยุดบินด้วย ล่าสุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่ระดับโกลบอลแบรนด์ของญี่ปุ่น ทำธุรกิจชิ้นส่วนขายให้บริษัทรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ได้ยื่นขออนุญาตมา ซึ่งพิจารณาแล้วธุรกิจนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร เพราะเป็นการรวมมาตั้งแต่ระดับโกลบอล ผลกระทบการรวมไม่เกิด เพราะลักษณะอุตสาหกรรมนี้จะเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ หรือเมกทูออร์เดอร์ ซึ่งบริษัทรถยนต์กับชิ้นส่วนได้มีการตกลงซื้อขายล่วงหน้าเรียบร้อยแล้วว่าปีหนึ่งจะผลิตเท่าไร ชิ้นส่วนอะไร ฉะนั้น จึงไม่กระทบอะไร

ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัตินั้นต้องวางหลักเกณฑ์ ไม่ใช่ไฟเขียวทันที เพราะภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องดูผลกระทบทั้งระบบ โดยคณะกรรมการต้องติดตามมอนิเตอร์ต่อไปว่ารวมเรียบร้อยมีผลต่อธุรกิจต่อเนื่อง และผู้บริโภคหรือไม่

ดีล ซี.พี.-เทสโก้ จบ ต.ค.นี้

ศ.ดร.สกนธ์กล่าวว่า สำหรับกรณีการควบรวมของธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม ซี.พี.และเทสโก้ ซึ่งเป็นหนึ่งเคสที่ยื่นขออนุญาตตามมาตรา 51 ถือเป็นเคสควบรวมขนาดใหญ่ครั้งแรกในบอร์ดแข่งขันชุดนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันฯฉบับปี 2560 และเป็นภารกิจที่ท้าทายการทำงาน ก่อนที่กรรมการ 3 ใน 7 คนของบอร์ดชุดนี้จะหมดวาระในเดือนธันวาคมนี้ จะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2563 ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ในระยะเวลาพิจารณา 90 วัน จนถึงขณะนี้เหลือเวลา60 วัน ถึงตุลาคม แต่หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ก็จะสามารถบวกเพิ่มไปได้อีกไม่เกิน 15 วันก็จะสรุปได้

“เรื่องนี้เป็นเคสแรก เราไม่ได้ห่วง เพราะได้วางแนวทางหลักเกณฑ์การทำงานโดยอาศัยโมเดลของทั้งในและต่างประเทศ และต้องศึกษาเชิงลึกเพื่อเปรียบเทียบให้มีความชัดเจน สามารถอธิบายตอบโจทย์ได้หมด โดยความคืบหน้าในการศึกษาได้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ขึ้นมา หลังจากที่คณะอนุกรรมการชุดแรกเก็บข้อมูลเบื้องต้นจบไปแล้ว ซึ่งอาศัยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาช่วยให้แนวคิดแนวทางเรื่องขอบเขตตลาดคืออะไร ข้อมูลอยู่ที่ไหนอย่างไร และให้ข้อชี้แนะเบื้องต้นว่าต้องดูอะไรบ้าง

ส่วนคณะอนุกรรมการช่วยพิจารณาชุดที่ 2 นี้จะมาจากทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐ และจากสถาบันการศึกษา เอกชนที่เกี่ยวข้องในเซ็กเตอร์ และคนที่รู้เรื่องกฎหมายแข่งขัน เช่น สสว.ก็มี คณะนี้มี 6 คน รวมฝ่ายเลขาฯ และยังมีที่ปรึกษาด้วย มอบหมายให้ศึกษาและรายงานมาที่บอร์ดเป็นระยะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะกัน”

เดินหน้าสร้างฐานข้อมูล

ศ.ดร.สกนธ์กล่าวว่า สเต็ปต่อไปคณะกรรมการมองว่าการสร้างฐานข้อมูลผลประกอบการ ฐานข้อมูลการทำธุรกิจทั้งหมดถือเป็นเรื่องจำเป็น สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะต้องจับมือกับหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสมาคมเอสเอ็มอีต่าง ๆ เพื่อวางเครือข่ายการดึงข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ภาคธุรกิจ

“ที่ต้องเอาเรื่องของข้อมูลเหล่านี้เข้ามา เพราะว่าเราเห็นว่าเราต้องเฝ้าระวัง ติดตามพฤติกรรมอย่างเข้มข้น ซึ่งข้อมูลลักษณะปีต่อปี มันเริ่มไม่พอ เพราะธุรกิจเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้น ข้อมูลต้องมีความละเอียด และมีความเคลื่อนไหวที่เราสามารถสังเกตได้ ฉะนั้น การสร้างฐานข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่เราต้องเร่งทำ เพราะว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเฝ้าติดตาม และเป็นข้อมูลของเรา เพื่อให้รู้ว่าพฤติกรรมหรือการทำธุรกิจ มันมีปัญหาเรื่องอะไร ประเด็นที่ 2 เรื่องของไกด์ไลน์ ซึ่งข้อมูลจากฐานข้อมูลนำมาสู่ไกด์ไลน์ ภาคธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจที่เร่งด่วนที่จำเป็นต้องไปออกไกด์ไลน์ ออกอนุบัญญัติต่าง ๆ ในการกำกับดูแล”