ย้ำราคาสุกรหน้าฟาร์มขายไม่เกิน 80 บาทต่อ กก. เพื่อบรรเทาช่วงโควิด-19

กรมการค้าภายในย้ำคงรักษาราคาสุกรหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทต่อกก. มุ่งแก้ปัญหาราคาสุกรปลีกกระทบผู้บริโภค ล่าสุดกรมฯประกาศ เกียรติคุณผู้ประกอบการด้านคุมครองผู้บริโภค

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่มีการขอให้รัฐปลดล็อคราคาสุกรหน้าฟาร์มให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อลดความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงสุกร เดิมการดำเนินการกำหนดขายสุกรหน้าฟาร์ม เป็นความเห็นและความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นตรงกันเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค

โดยกรมการค้าภายใน ขอชี้แจงว่า จากที่ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 จากกิโลกรัมละ 67 – 68 บาท เป็นกิโลกรัมละ 81 – 82 บาท ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นสูงกว่ากิโลกรัมละ 170 บาท กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคที่ยังอยู่ในช่วงเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19

ความร่วมมือที่เกิดขึ้น นั้น กรมการค้าภายใน เชิญ ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมสุกร คือ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้ประกอบการโรงเชือดชำแหละ สมาคมตลาดสดไทย และ ห้างค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ ประชุมหลายครั้ง เพื่อหารือแนวทางบริหารจัดการอุปทานและราคาสุกร ที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งไม่สร้างผลกระทบต่อโอกาสของสินค้าสุกรไทย ที่จะสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ ซึ่งทุกภาคส่วน ก็เห็นพ้องร่วมกันในการกำหนดมาตรการสำหรับสินค้าสุกร

โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในทุกภูมิภาค ช่วยดูแลด้านปริมาณและราคาสุกร มีชีวิตหน้าฟาร์ม มิให้กระทบผู้บริโภคในประเทศ โดยตรึงราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่จำหน่าย ในประเทศไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตกิโลกรัมละ 71.55 บาท เพื่อให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรอยู่ที่ไม่เกินกิโลกรัมละ 160 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ และไม่กระทบต่อผู้บริโภคมาก ด้านโรงเชือดชำแหละ ช่วยตรึงราคาขายส่งไว้เช่นกัน เพื่อให้ผู้ค้าปลายทาง ในตลาดสด และห้างสามารถขายปลีกเนื้อสุกร (สะโพกและไหล่) ที่กิโลกรัมละ 150 บาท และสันนอก กิโลกรัมละ 160 บาท

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมตลาดสดไทย ห้างค้าปลีกรายใหญ่ ได้จัดให้มีการขายเนื้อสุกรคุณภาพดี ในราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 130 บาท เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้ กรมฯ ขอยืนยันว่าข้อตกลงที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีเจตนาที่จะดูแลทั้งผู้เลี้ยงสุกรและประชาชน ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์ก็ได้ปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เกิดประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภค

และในวันที่ 18 กันยายน 2563 กรมการค้าภายในได้เล็งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีนโยบายจัดทำยุทธศาสตร์การชั่งตวงวัด ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2563 – 2567) ซึ่งมีพันธกิจในด้านการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

โดยมีโครงการที่สำคัญ 2 โครงการ คือ “โครงการสถานีบริการน้ำมันเต็มลิตร” โดยได้ทำบันทึกความเข้าใจกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วม จำนวน 10 บริษัท และ “โครงการเครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อ” เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าหีบห่อนั้นมีปริมาณการบรรจุถูกต้องตรงกับปริมาณสุทธิที่ระบุไว้บนฉลาก

จากผลการดำเนินการทั้งสองโครงการสร้างความเป็นธรรมในทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายผ่านสินค้าหีบห่อคิดเป็นมูลค่าสินค้ากว่า 3,300,000 ล้านบาท และมูลค่าน้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 990,000 ล้านบาท และเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและแสดงความสำเร็จในการร่วมมือกัน

กรมการค้าภายในจึงได้กำหนดจัดงานประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบการที่ร่วมเครือข่ายการกำกับดูแลด้านชั่งตวงวัด ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่าย และขยายประสิทธิภาพของงานด้านชั่งตวงวัดให้มีมาตรฐานและมีความครอบคลุมในการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพบการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือพบการบรรจุสินค้าหีบห่อ ที่ไม่ตรงตามปริมาณสุทธิที่แสดงบนฉลาก สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ