ประกันรายได้ปี 2 วงเงินกว่า 75,000 ล้าน ครอบคลุมเกษตรกร 7.76 ล้านราย

Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“จุรินทร์” ประกาศเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 ยันโครงการมีต่อเนื่องเมื่อเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน ครอบคลุมเกษตรกร 7.67 ล้านราย วงเงินงบประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเร่งนำเรื่องเข้า ครม. พิจารณาเห็นชอบสำหรับสินค้ายางพารา ข้าวเปลือก หลังจากมันฯ ปาล์มฯ ข้าวโพดฯเห็นชอบแล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเป็นประธานสัมมนาเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกว่า 3,000 คน ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนาน 5 สินค้า หรือประกันรายได้ปีที่ 2 ปีการผลิต 2563/64 ของรัฐบาล ว่า นโยบายประกันรายได้ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ถือว่าเป็นนโยบายผูกพันของรัฐบาลชุดนี้ไปตลอด 4 ปี ดังนั้น โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรยังคงอยู่ต่อไปตราบที่มีรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยในปีผลิตหน้ารัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการประกันรายได้ต่อไป

สำหรับโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 ขณะนี้ โครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมันได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการประกันรายได้ข้าวเปลือก ยางพารา กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม. นัดถัดไป โดยเชื่อว่าจะครอบคลุมเกษตรกรกว่า 7.67 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณที่ใช้รวม 75,017.66 ล้านบาท ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินชดเชยส่วนต่าง 71,844.05 ล้านบาท ขณะที่ วงเงินที่เหลือจะใช้เป็นค่าบริหารจัดการต่อไป

“โครงการประกันรายได้ปีที่ 2 เป็นความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล เพราะหนึ่งปีที่ผ่านมา เห็นได้จากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะนี้ ราคามันสำปะหลังอยู่ที่ 2.05-2.25 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์มน้ำมันาราคาอยู่ที่ 4.20-5 บาทต่อกิโลกรัม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 8.70 บาทต่อกิโลกรัม ข้าวเปลือกจ้าว 9,100-9,800 บาทต่อตัน และยางพาราอยู่ที่ 56.70 บาทต่กิโลกรัม พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ทำได้จริง พร้อมทั้ง สามารถโอนเงินส่วนต่างให้เกษตรกรได้ครบทุกตัวอีกด้วย”

ส่วนพืชเกษตรตัวอื่น กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการดูแลทุกตัว แต่ใช้ยาคนละขนาน อย่างผลไม้ มีมาตรการดูแลเป็นการล่วงหน้า หาตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น หรือเนื้อสุกร ทำให้เกษตรกรสามารถขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้ราคาดี แต่ก็ต้องดูแลผู้บริโภค โดยตรึงราคาหมูเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 80 บาท หมูปลายทางไม่ให้เกิน 150-160 บาท

สำหรับโครงการประกันรายได้ปีแรก มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 7.29 ล้านครัวเรือน มีวงเงินประกันรายได้รวม 71,210 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์แล้ว 3.6 ล้านครัวเรือน จ่ายส่วนต่างแล้ว 58,313 ล้านบาท คิดเป็น 81.79%

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 ข้าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) แล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. พิจารณา ประกันรายได้ข้าว 5 ชนิดเหมือนเดิม วงเงิน 23,495.71 ล้านบาท และมีมาตรการคู่ขนาน ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี , โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปาล์มน้ำมัน คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เห็นชอบโครงการแล้ว ระยะเวลาดำเนินการม.ค.-ก.ย.2564 วงเงิน 8,807.54 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเสนอ ครม. พิจารณา มีมาตรการคู่ขนาน คือ นำไปผลิตไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรอง 1 แสนตัน ผลักดัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และ B7 และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือก ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ถังเก็บน้ำมัน และบริหารการนำเข้า

มันสำปะหลัง ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 วงเงิน 9,788,933,798.40 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย.2563–31 พ.ค.2565 มีมาตรการคู่ขนาด คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสาปะหลัง และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสาปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสาปะหลัง

ยางพารา คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. วงเงิน 31,013.27 ล้านบาท มีมาตรการคู่ขนาน คือ กำกับดูแลการรับซื้อยาง สถานที่เก็บ ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 วงเงิน 1,912,210,245 บาท ระยะเวลา โครงการ 1 พ.ย.2563–30 เม.ย.2565 มีมาตรการคู่ขนาน คือ การบริหารการนำเข้า กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ต่อ 3 การแสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้น 14.5% และ 30% การแจ้งปริมาณการครอบครอง การนาเข้า สถานที่เก็บ การตรวจสอบสต๊อก สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการเก็บสต็อก