เงินเฟ้อ ก.ย. 63 ติดลบ 0.70% ลดลงต่อเนื่อง คาดไตรมาส 4 ยังติดลบต่อ

เงินเฟ้อเดือน ก.ย. 63 ติดลบ 0.70% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เหตุเจอราคาพลังงานที่ปรับลดลง คาดไตรมาส 4 ยังติดลบต่อเนื่อง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 102.18 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2563 ที่ผ่านมา และลดลง 0.70% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันของปีนี้ นับตั้งแต่มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.70% มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงมาก โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ แม้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อหมู และผักสดสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนสินค้าอื่นๆ เคลื่อนไหวปกติ โดยเงินเฟ้อที่ลดลง ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งมีทิศทางดีขึ้น

“รายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.70% มาจากสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.94% จาการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 15.77% หมวดเคหสถานลด 0.19% หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษาลด 0.21% ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.42% จากการเพิ่มขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 3.38% ผักสด เพิ่ม 11.21% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.25% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.71% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.51% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.67% ”

ส่วนเงินเฟ้อ 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ลดลง 0.99% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก ดัชนีอยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2562 เฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.32%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทย ได้กลับมาติดลบครั้งแรกในเดือนมี.ค.2563 โดยลดลง 0.54% จากนั้นเดือนเม.ย.-ส.ค.2563 ก็ติดลบมาโดยตลอด คือ ลดลง 2.99% , 3.44% , 1.57% , 0.98% และ 0.50% ตามลำดับ ซึ่งตามทฤษฎี เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน จะถือเป็นภาวะเงินฝืด แต่เป็นการฝืดทางเทคนิค ไม่ใช่ฝืดจริง เพราะสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวปกติ และหลายรายการเพิ่มขึ้น แต่ตัวที่ฉุดให้เงินเฟ้อลดลง คือ ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะยังคงติดลบ ประเมินไว้ที่ติดลบ 0.34% เพราะราคาพลังงานยังลดลง จากความต้องการใช้ทั่วโลกที่ลดลง เพราะหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 แต่คาดว่า อัตราติดลบจะน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 เพราะความต้องการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ทั้งนี้ มาจากมาตรการส่งเสริมการส่งออก มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน รวมถึงราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ และผักสด ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด โดย สนค. ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2563 ไว้ที่ลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1%

สำหรับสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า เดือนก.ย.2563 ราคาสินค้าสูงขึ้นมีจำนวน 128 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2563 และสูงขึ้น 224 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2562 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสด ขณะที่ราคาลดลงมี 111 รายการ เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และลดลง 130 รายการเมื่อเทียบเดือนก.ย.2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน ส่วนราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 183 รายการ เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และไม่เปลี่ยนแปลง 68 รายการ เมื่อเทียบเดือนก.ย.2562